ส่วนนำของวารสาร

ผู้แต่ง

  • สินศักดิ์ชนม์ อุ่นพรมมี วารสารศูนย์อนามัยที่ 9

คำสำคัญ:

COVID-19, ์ปกติวิถีใหม่, งานวิจัย, การเผยแพร่งานวิจัย

บทคัดย่อ

บทบรรณาธิการ

 COVID-19 กับงานวิจัยและการเผยแพร่งานวิจัย

 การระบาดของโรค COVID-19 ส่งผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทั้งทิศทาง (Directions) แนวโน้ม (Trends) และวิธีการ (Measures) ในการทำงานวิจัยและการเผยแพร่งานวิจัยในหลายรูปแบบ ผู้เขียนรวบรวมประเด็นจากบทความวิชาการ และบทความออนไลน์ มาสรุปเป็นประเด็นที่น่าสนใจ ดังนี้

  • งานวิจัยและเผยแพร่เกี่ยวกับ COVID-19 เพิ่มมากขึ้นอย่างรวดเร็ว ความจำเป็นเร่งด่วนในการควบคุมการระบาดและการรักษาโรคทำให้งานวิจัย Clinical trials ทั่วโลกเพิ่มขึ้นกว่า 70 เท่าภายในระยะเวลาเพียง 6 เดือน (60 เรื่องช่วงต้น ม.ค. 62 เป็น 4,271 เรื่อง ช่วงปลาย มิ.ย. 63[1]) เมื่อสามารถควบคุมการแพร่ระบาดและมีแนวทางการรักษาโรคที่มีประสิทธิภาพแล้ว แนวโน้มการวิจัยจะปรับจาก Clinical trials ไปสู่ด้านพฤติกรรมและด้านสังคม (Behavioral and social studies) คล้ายกับที่เกิดขึ้นกับการระบาดของโรคเอดส์ในช่วงสามทศวรรษที่ผ่านมา[2]
  • รูปแบบการดำเนินงานวิจัยเปลี่ยนไป การควบคุมการระบาดที่สำคัญของไวรัสโคโรน่า คือการรักษาระยะห่างทางสังคม (Social distancing) ทำให้การประชุมแบบต่อหน้า (Face-to-face) และการเก็บรวบรวมข้อมูลภาคสนามในทุกรูปแบบ (Field data collections) เป็นสิ่งที่ต้องหลีกเลี่ยง นักวิจัยต้องปรับรูปแบบการประชุมเป็นการประชุมออนไลน์ผ่าน Platform ต่างๆ เช่น Zoom® Google Meet® หรือ Line® การเก็บรวบรวมข้อมูลทางอินเตอร์เน็ตด้วยการทำแบบสอบถามผ่าน Google Forms® หรือการสัมภาษณ์ผ่าน Line® Facebook Messenger® หรือแม้แต่ SMS[3] เป็นวิธีการเก็บรวบรวมข้อมูลที่ทรงประสิทธิภาพและทำให้งานวิจัยขับเคลื่อนได้ในระหว่างที่มีการระบาดของ COVID-19 ในทั่วทุกมุมโลก
  • รูปแบบการเผยแพร่ผลการวิจัยเปลี่ยนไป การประชุมนำเสนอผลงานที่ประกาศไว้แล้วก่อนการระบาดของไวรัสโคโรน่า ต้องปรับรูปแบบการประชุมเป็นแบบออนไลน์อย่างเร่งด่วนเพื่อให้งานสามารถดำเนินต่อไปได้ เช่น American Public Health Association (APHA) Annual Meeting ที่ปกติมีผู้เข้าร่วมเกิน 12,000 คน ทุกปีต้องเปลี่ยนเป็นการประชุมเสมือนจริง (Virtual meetings)[4]

                 รูปแบบการทำงานวิจัยที่ต้องปรับจากแบบที่เคยทำ (The Usual) ไปเป็น ‘ปกติวิถีใหม่’ หรือ ‘New Normal’ อาจเกิดความขลุกขลัก ไม่คุ้นชิน และเป็นความท้าทายของนักวิจัยทุกคน แต่เชื่อมั่นว่าด้วยศักยภาพของนักวิจัยจะสามารถปรับตัวและทำให้ New Normal กลายเป็น The Usual ได้ในไม่ช้า

ดร.สินศักดิ์ชนม์ อุ่นพรมมี

        บรรณาธิการ

[1] Nature Index. Coronavirus research publishing: The rise and rise of COVID-19 clinical trials [Internet]. 2020 [cited 2020 August 4]. Available from:  https://www.natureindex.com/news-blog/the-top-coronavirus-research-articles-by-metrics

[2] Lakeh AB, Ghaffarzadegan N. Global trends and regional variations in studies of HIV/AIDS. Sci Rep 2017; 7: 4170. doi: 10.1038/s41598-017-04527-6.

[3] Lau C. Collecting Data with Mobile Surveys in Low- and Middle-Income Countries During COVID-19 [Internet]. 2020 [cited 2020 August 4]. Available form: https://www.rti.org/insights/mobile-survey-data-collection-covid-19

[4] APHA [Internet]. APHA 2020 — Creating the Healthiest Nation: Preventing Violence; c2020 [cited 2020 August 4] Available from: https://www.apha.org/annualmeeting

Author Biography

สินศักดิ์ชนม์ อุ่นพรมมี, วารสารศูนย์อนามัยที่ 9

บรรณาธิการ

Additional Files

เผยแพร่แล้ว

2020-08-05