ความชุกของกลุ่มอาการผิดปกติทางโครงร่างกล้ามเนื้อเนื่องจากการทำงานและปัจจัยที่เกี่ยวข้องในพยาบาลวิชาชีพปฏิบัติงานในแผนกศัลยกรรม โรงพยาบาลระดับตติยภูมิ

Authors

  • พัชรินทร์ ไชยสุรินทร์ คณะพยาบาลศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
  • วันชัย มุ้งตุ้ย คณะพยาบาลศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
  • ธานี แก้วธรรมนานุกูล คณะพยาบาลศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
  • พิมพ์ประพรรณ สถาพรพัฒน์ คณะพยาบาลศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่

Keywords:

กลุ่มอาการผิดปกติทางโครงร่างกล้ามเนื้อ, พยาบาลวิชาชีพ, โรงพยาบาลระดับตติยภูมิ, อาชีวอนามัย

Abstract

กลุ่มอาการผิดปกติทางโครงร่างกล้ามเนื้อเป็นปัญหาสุขภาพที่สำคัญในพยาบาลวิชาชีพ การวิจัยครั้งนี้เป็นการวิจัยเชิงพรรณนาเพื่อศึกษาความชุกกลุ่มอาการผิดปกติทางโครงร่างกล้ามเนื้อเนื่องจากการทำงานและปัจจัยที่เกี่ยวข้องในพยาบาลวิชาชีพแผนกศัลยกรรม โรงพยาบาลระดับตติยภูมิ จำนวน 16 หอ ผู้ป่วยจำนวน 212 ราย รวบรวมข้อมูลในเดือนมีนาคม พ.ศ.2555 เครื่องมือที่ใช้ในการรวบรวมข้อมูลเป็นแบบสอบถามประกอบด้วย 3 ส่วน คือ ข้อมูลปัจจัยส่วนบุคคล ปัจจัยที่เกี่ยวข้องกับการเกิดกลุ่มอาการผิดปกติทางระบบโครงร่างกล้ามเนื้อ ได้แก่ ปัจจัยด้านการยศาสตร์และปัจจัยด้านจิตสังคม และกลุ่มอาการผิดปกติทางโครงร่างกล้มเนื้อซึ่งผ่านการตรวจสอบความตรงเนื้อหาโดยผู้ทรงคุณวุฒิและทดสอบความเชื่อมั่นวิเคราะห์ข้อมูลโดยใช้สถิติเชิงพรรณนา การวิเคราะห์การถดถอยโลจิสติก และการวิเคราะห์การถดถอยแบบพหุคูณแบบตั้งต้น

 

ผลการวิจัย พบว่า

ความชุกของกลุ่มอาการผิดปกติทางโครงร่างกล้ามเนื้อในช่วง 7 วันและ 12 เดือน ก่อนการศึกษาเท่ากับร้อยละ 84.90 และร้อยละ 69.30 ตามลำดับ สำหรับปัจจัยด้านการยศาสตร์โดยรวมกลุ่มตัวอย่างมีคะแนนอยู่ในระดับสูง ร้อยละ 54.70 ส่วนปัจจัยด้านจิตสังคมที่พบว่าคะแนนอยู่ในระดับสูงได้แก่ ด้านข้อเรียกร้องจากงานทางกาย (ร้อยละ 62.70) ความมั่นคงในงาน (ร้อยละ 78.30) และสิ่งคุกคามในงาน (ร้อยละ 50.90) สำหรับด้านการควบคุมกำกับงาน ข้อเรียกร้องจากงานทางจิตใจ และแรงสนับสนุนทางสังคม กลุ่มตัวอย่าง ร้อยละ 62.30, 56.10 และ 70.30 ตามลำดับมีคะแนนอยู่ในระดับต่ำเมื่อพิจารณาความสัมพันธ์ระหว่างการเกิดกลุ่มอาการผิดปกติทางโครงร่างกล้ามเนื้อกับปัจจัยที่เกี่ยวข้องพบว่าในช่วง 7 วันก่อนการศึกษามีการมีโรคประจำตัวที่เกี่ยวข้องกับระบบโครงร่างกล้ามเนื้อ การไม่ออกกำลังกาย ข้อเรียกร้องจากงานทางกายสูงและแรงสนับสนุนทางสังคมต่ำ มีความสัมพันธ์กับการเกิดกลุ่มอาการผิดปกติทางระบบโครงร่างกล้ามเนื้ออย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ 0.05 (OR = 22.21, OR = 3.86, 1.41 และ 1.23 ตามลำดับ) ส่วนในช่วง 12 เดือน ก่อนการศึกษาไม่พบปัจจัยที่มีความสัมพันธ์กับการเกิดกลุ่มอาการผิดปกติทางระบบโครงร่างกล้ามเนื้อสำหรับปัจจัยที่มีผลต่อความรุนแรงของอาการผิดปกติทางโครงร่างกล้ามเนื้อ พบว่า ข้อเรียกร้องจากงานทางกายสูง สามารถทำนายความรุนแรงต่อกลุ่มอาการผิดปกติทางระบบโครงร่างกล้ามเนื้อได้สูงสุด

การวิจัยครั้งนี้แสดงให้เห็นว่า ทีมอาชีวอนามัยที่รับผิดชอบงานดูแลสุขภาพบุคลากรในโรงพยาบาล ควรให้ความสำคัญในการป้องกันและลดความรุนแรงของอาการผิดปกติทางระบบโครงร่างกล้ามเนื้อ โดยการดำเนินกิจกรรมส่งเสริมการออกกำลังกาย การปรับเปลี่ยนสิ่งแวดล้อมในการทำงานและสภาพการทำงาน และให้การสนับสนุนทางสังคมสำหรับพยาบาลเพื่อให้มีคุณภาชีวิตที่ดีและปฏิบัติงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ

Downloads

Published

2012-08-31

How to Cite

ไชยสุรินทร์ พ., มุ้งตุ้ย ว., แก้วธรรมนานุกูล ธ., & สถาพรพัฒน์ พ. (2012). ความชุกของกลุ่มอาการผิดปกติทางโครงร่างกล้ามเนื้อเนื่องจากการทำงานและปัจจัยที่เกี่ยวข้องในพยาบาลวิชาชีพปฏิบัติงานในแผนกศัลยกรรม โรงพยาบาลระดับตติยภูมิ. Nursing Journal CMU, 39(5), 46–61. Retrieved from https://he02.tci-thaijo.org/index.php/cmunursing/article/view/33322