การพัฒนาระบบสุขภาพชุมชน ตำบลชมภู อำเภอสารภี จังหวัดเชียงใหม่
Keywords:
การพัฒนาระบบสุขภาพชุมชนAbstract
การพัฒนาระบบสุขภาพชุมชน ต้องอาศัยพลังทั้งสามภาคส่วน คือ พลังทางปัญญา พลังทางสังคม และพลังทางภาคการเมือง การวิจัยครั้งนี้เป็นการวิจัยเชิงพรรณนา มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาระบบสุขภาพตำบล และถอดบทเรียนกระบวนการพัฒนาระบบสุขภาพตำบลชมภู อำเภอสารภี จังหวัดเชียงใหม่ ผู้วิจัยคัดเลือกกลุ่มตัวอย่างแบบเจาะจง ได้แก่ บุคลากรของเทศบาล เจ้าหน้าที่โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพ กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ผู้นำชุมชน อาสาสมัครสาธารณสุข และกลุ่มแกนนำ เครื่องมือที่ใช้สำหรับการศึกษาคือ แบบสำรวจข้อมูลหลัก 4 ชุดของขนิษฐา นันทบุตร และคณะ (2553) ได้แก่ 1) ข้อมูลที่แสดงโครงสร้างหลักของตำบล 2) ข้อมูลวิเคราะห์ปัญหาและสาเหตุที่มาของปัญหา 3) ข้อมูลการจัดการที่แสดงให้เห็นกระบวนการเสริมสร้างชุมชนให้เข้มแข็ง และ 4) ข้อมูลผลลัพธ์ที่แสดงถึงสถานะความเข้มแข็งของตำบล นอกจากนี้ผู้วิจัยได้พัฒนาแนวการสัมภาษณ์และการสนทนากลุ่ม วิธีการรวบรวมข้อมูลได้แก่ การสัมภาษณ์ การสังเกต การสนทนากลุ่ม การประชุมกลุ่ม การจัดเวทีสนทนา การแลกเปลี่ยนเรียนรู้ และการศึกษาจากรายงานและเอกสารต่างๆ วิเคราะห์ข้อมูลเชิงเนื้อหาและจัดหมวดหมู่
ผลการวิจัย พบว่า
การพัฒนาระบบสุขภาพชุมชนของตำบลชมภู เป็นการทำงานประสานร่วมกัน ของทั้งภาครัฐและภาคประชาชนและองค์กรท้องถิ่น กลุ่มแกนนำที่เป็นทางการและไม่เป็นทางการ ซึ่งระบบสุขภาพต่างๆ ที่มีในชุมชนมีทั้งระบบที่การส่งเสริม ป้องกัน รักษาและการฟื้นฟู ได้แก่ 1) ระบบการจัดการแก่ผู้ป่วยโรคเรื้อรัง ผู้ป่วยระยะสุดท้าย และผู้พิการ มีกลุ่มช่วยเหลือผู้พิการ ชมรมผู้พิการ เครือข่ายทายาทเบาหวาน การดูแลด้วยแพทย์แผนไทย ชมรมหมออาสา – จิตอาสา จิตอาสาสมัคร กลุ่มดูแลผู้ป่วยระยะสุดท้าย 2) ระบบการพัฒนาเด็กและเยาวชน มีศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก กองทุนพัฒนาเด็กเล็ก โครงการวัยรุ่นสุขภาพจิตดีชีวีไม่ยุ่งสิ่งเสพติด โครงการโภชนาการสมวัย และมีสภาเด็กและเยาวชน 3) ระบบการดูแลผู้สูงอายุ มีเครือข่ายผู้สูงอายุ กองทุนผู้สูงอายุ 4) ระบบการดูแลฉุกเฉินและอุบัติเหตุ มีศูนย์บริการการแพทย์ฉุกเฉิน และหน่วยเตือนภัยพิบัติ 5) ระบบการจัดการสวัสดิการชุมชน มีกองทุนมากกว่า 10 กองทุน มีศูนย์เรียนรู้ออมทรัพย์ 6) ระบบบริหารจัดการสิ่งแวดล้อม มีการกำจัดขยะ กลุ่มปุ๋ยชีวภาพ 7) มีระบบเศรษฐกิจชุมชน มีศูนย์เรียนรู้เศรษฐกิจพอเพียง ศูนย์เรียนรู้เกษตรปลอดสารและศูนย์พัฒนาอาชีพ 8) ระบบอาสาพัฒนาชุมชน มีอาสาสมัครดูแลผู้สูงอายุ 9) ระบบการสื่อสารในชุมชน มีวิทยุชุมชน และมี website ของเทศบาลตำบลชมภู บทเรียนที่พบคือการพัฒนาระบบสุขภาพชุมชน ปัจจัยที่นำไปสู่ความสำเร็จ คือการมีผู้นำที่ดี การนำต้นทุนทางสังคมมาใช้ประโยชน์ การทำงานแบบภาคเครือข่าย โดยต้องอาศัยองค์กรหลักในชุมชนเป็นสำคัญ และบุคลากรทางสาธารณสุขยังเป็นผู้มีอิทธิพลอย่างมากต่อการประสานงานระหว่างภาคีเครือข่าย
ข้อเสนอแนะในการศึกษาครั้งนี้คือการพัฒนาระบบสุขภาพชุมชนต้องมีการทำงานแบบหุ้นส่วนจึงจะเกิดผลสำเร็จได้
Downloads
Published
How to Cite
Issue
Section
License
บทความที่ได้รับการตีพิมพ์เป็นลิขสิทธิ์ของวารสารพยาบาลสาร
ข้อความที่ปรากฏในบทความแต่ละเรื่องในวารสารวิชาการเล่มนี้เป็นความคิดเห็นส่วนตัวของผู้เขียนแต่ละท่านไม่เกี่ยวข้องกับมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และคณาจารย์ท่านอื่นๆในมหาวิทยาลัยฯ แต่อย่างใด ความรับผิดชอบองค์ประกอบทั้งหมดของบทความแต่ละเรื่องเป็นของผู้เขียนแต่ละท่าน หากมีความผิดพลาดใด ๆ ผู้เขียนแต่ละท่านจะรับผิดชอบบทความของตนเองแต่ผู้เดียว