ผลของการพัฒนาทักษะการสื่อสารของผู้ปกครองต่อการสื่อสารเรื่องการป้องกันการติดเชื้อเอชไอวีระหว่างผู้ปกครองกับบุตรวัยรุ่นตอนต้น
Keywords:
การพัฒนาทักษะการสื่อสาร, การป้องกันการติดเชื้อเอชอีวี, ผู้ปกครอง, บุตรวัยรุ่นตอนต้นAbstract
การติดเชื้อเอชไอวีในกลุ่มเด็กวัยรุ่นและเยาวชนกำลังเป็นปัญหาสำคัญและมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น ผู้ปกครองเป็นผู้ที่มีบทบาทสำคัญในการป้องกันการติดเชื้อเอชไอวีให้กับบุตรวัยรุ่น การวิจัยครั้งนี้เป็นการวิจัยเชิงทดลองชนิด 2 กลุ่มเปรียบเทียบก่อนและหลังการทดลอง เพื่อศึกษาผลของการพัฒนาทักษะการสื่อสารของผู้ปกครองต่อการสื่อสารเรื่องการป้องกันการติดเชื้อเอชไอวีระหว่างผู้ปกครองกับบุตรวัยรุ่นตอนต้น กลุ่มตัวอย่างในกลุ่มทดลอง คือ ผู้ปกครองและบุตรวัยรุ่นตอนต้นที่กำลังศึกษาชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1 ในโรงเรียนแห่งหนึ่งในจังหวัดชุมพร อย่างละ 51 คน กลุ่มควบคุมเป็นผู้ปกครองและบุตรวัยรุ่นตอนต้นที่กำลังศึกษาชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1 ในโรงเรียนอีก 1 แห่งในจังหวัดชุมพร อย่างละ 54 คน ทำการศึกษาระหว่างเดือนกุมภาพันธ์ ถึงเดือนพฤษภาคม พ.ศ. 2556 เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัยประกอบด้วย แบบสอบถามข้อมูลทั่วไป แบบสอบถามการสื่อสารเรื่องการป้องกันการติดเชื้อเอชไอวีในเด็กวัยรุ่นของผู้ปกครอง แบบสอบถามการรับรู้การสื่อสารเรื่องการป้องกันการติดเชื้อเอชไอวีของบุตรวัยรุ่น และแผนพัฒนาทักษะการสื่อสารของผู้ปกครองเรื่องป้องกันการติดเชื้อเอชไอวีในเด็กวัยรุ่น วิเคราะห์ข้อมูลโดยใช้สถิติเชิงพรรณนา สถิติไควสแคว์ สถิติการทดสอบของฟิชเชอร์ สถิติทดสอบวิลคอกซัน และสถิติทดสอบ แมนวิทนีย์ยู
ผลการวิจัย พบว่าหลังได้รับการพัฒนาทักษะการสื่อสารเรื่องการป้องกันการติดเชื้อเอชไอวีในเด็กวัยรุ่นผู้ปกครองกลุ่มทดลองมีคะแนนมัธยฐานการสื่อสารเรื่องการป้องกันการติดเชื้อเอชไอวีกับบุตรวัยรุ่นตอนต้นเพิ่มขึ้นจาก 64 คะแนน เป็น 90 คะแนน จากคะแนนเต็ม 116 คะแนน อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (p<.001)และเมื่อเปรียบเทียบระหว่างกลุ่มทดลองและกลุ่มควบคุม พบว่า ผู้ปกครองกลุ่มทดลองมีคะแนนมัธยฐานการสื่อสารเรื่องการป้องกันการติดเชื้อเอชไอวีกับบุตรวัยรุ่นตอนต้น 90 คะแนน มากกว่ากลุ่มควบคุมที่มีคะแนนเท่ากับ 66 คะแนน จากคะแนนเต็ม 116 คะแนน อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (p<.001) และบุตรวัยรุ่นในกลุ่มทดลองมีคะแนนมัธยยฐานการรับรู้การสื่อสารเรื่องการป้องกันการติดเชื้อเอชไอวี เพิ่มขึ้นจาก 87 คะแนน เป็น96 คะแนน อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (p<.001) และเมื่อเปรียบเทียบระหว่างกลุ่มทดลองและกลุ่มควบคุมพบว่า บุตรวัยรุ่นในกลุ่มทดลองมีคะแนนมัธยฐานการรับรู้การสื่อสารเรื่องการป้องกันการติดเชื้อเอชไอวี 96คะแนน มากกว่าบุตรวัยรุ่นในกลุ่มควบคุมที่มีคะแนนเท่ากับ 70 คะแนน อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (p<.05)
การศึกษานี้แสดงให้เห็นว่าการพัฒนาทักษะการสื่อสารของผู้ปกครองเรื่องการป้องกันการติดเชื้อเอชไอวีในเด็กวัยรุ่น ส่งผลให้ผู้ปกครองมีการสื่อสารเรื่องการป้องกันการติดเชื้อเอชไอวีกับบุตรวัยรุ่นมากขึ้นดังนั้นควรนำการพัฒนาทักษะการสื่อสารเรื่องการป้องกันการติดเชื้อเอชไอวีในเด็กวัยรุ่นไปประยุกต์ใช้เพื่อให้ผู้ปกครองสื่อสารกับบุตรวัยรุ่นมีประสิทธิภาพมากขึ้น ซึ่งจะส่งผลให้บุตรวัยรุ่นสามารถป้องกันตนเองจากการติดเชื้อเอชไอวีได้Downloads
Published
How to Cite
Issue
Section
License
บทความที่ได้รับการตีพิมพ์เป็นลิขสิทธิ์ของวารสารพยาบาลสาร
ข้อความที่ปรากฏในบทความแต่ละเรื่องในวารสารวิชาการเล่มนี้เป็นความคิดเห็นส่วนตัวของผู้เขียนแต่ละท่านไม่เกี่ยวข้องกับมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และคณาจารย์ท่านอื่นๆในมหาวิทยาลัยฯ แต่อย่างใด ความรับผิดชอบองค์ประกอบทั้งหมดของบทความแต่ละเรื่องเป็นของผู้เขียนแต่ละท่าน หากมีความผิดพลาดใด ๆ ผู้เขียนแต่ละท่านจะรับผิดชอบบทความของตนเองแต่ผู้เดียว