ความสัมพันธ์ระหว่างแรงจูงใจภายในกับพฤติกรรมควบคุมน้ำตาลในเลือดของผู้สูงอายุ ที่เป็นโรคเบาหวานชนิดที่ 2
Keywords:
ผู้สูงอายุ, โรคเบาหวานชนิดที่ 2, แรงจูงใจภายใน, พฤติกรรมควบคุมน้ำตาลในเลือดAbstract
การปฏิบัติพฤติกรรมควบคุมน้ำตาลในเลือดทั้งทางด้านการควบคุมอาหาร ออกกำลังกาย และใช้ยาเบาหวาน เป็นสิ่งสำคัญที่ช่วยป้องกันหรือชะลอภาวะแทรกซ้อนจากโรคเบาหวานในผู้สูงอายุ ซึ่งปัจจัยที่อาจมีความสัมพันธ์กับพฤติกรรมควบคุมน้ำตาลในเลือด คือ แรงจูงใจภายใน การวิจัยครั้งนี้เป็นการวิจัยเชิงบรรยาย แบบหาความสัมพันธ์ มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาความสัมพันธ์ระหว่างแรงจูงใจภายในกับพฤติกรรมควบคุมน้ำตาลในเลือดของผู้สูงอายุที่เป็นโรคเบาหวานชนิดที่ 2 โดยเลือกกลุ่มตัวอย่างแบบสะดวก จำนวน 88 ราย จากผู้ที่เข้ารับการตรวจรักษาที่คลินิกโรคเบาหวาน โรงพยาบาลตรัง ในเดือนพฤศจิกายน พ.ศ. 2555 รวบรวมข้อมูลโดยใช้แบบสอบถามข้อมูลส่วนบุคคล แรงจูงใจภายใน และพฤติกรรมควบคุมน้ำตาลในเลือด โดยมีค่าสัมประสิทธิ์แอลฟาของครอนบาคเท่ากับ 0.86 และ 0.81 ตามลำดับ วิเคราะห์ความสัมพันธ์ด้วยการใช้สัมประสิทธิ์สหสัมพันธ์ของเพียร์สัน
ผลการวิจัยพบว่า ผู้สูงอายุโรคเบาหวานชนิดที่ 2 มีแรงจูงใจภายในและพฤติกรรมควบคุมน้ำตาลในเลือดโดยรวมระดับปานกลาง มีพฤติกรรมควบคุมน้ำตาลในเลือดด้านการใช้ยาเบาหวานระดับสูง ด้านการรับประทานอาหารและด้านการออกกำลังกายระดับปานกลาง แรงจูงใจภายในมีความสัมพันธ์ทางบวกกับพฤติกรรมควบคุมน้ำตาลในเลือดโดยรวมอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (r = .45, p<.01) และแรงจูงใจภายในมีความสัมพันธ์ทางบวกกับพฤติกรรมควบคุมน้ำตาลในเลือดด้านการออกกำลังกายอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ(r = .48, p<.01) แต่แรงจูงใจภายในมีความสัมพันธ์อย่างไม่มีนัยสำคัญทางสถิติกับพฤติกรรมควบคุมน้ำตาลในเลือดด้านการรับประทานอาหาร (r = .18, p = .09) และไม่มีความสัมพันธ์กับพฤติกรรมควบคุมน้ำตาลในเลือดด้านการใช้ยาเบาหวาน (r = .00) ดังนั้น บุคลากรทางสุขภาพควรส่งเสริมแรงจูงใจภายในให้ผู้สูงอายุที่เป็นโรคเบาหวานชนิดที่ 2 มีการออกกำลังกายตามความชอบของตนเอง และควรศึกษาปัจจัยที่มีผลต่อพฤติกรรมการควบคุมอาหารและใช้ยาเบาหวานต่อไป
Downloads
Published
How to Cite
Issue
Section
License
บทความที่ได้รับการตีพิมพ์เป็นลิขสิทธิ์ของวารสารพยาบาลสาร
ข้อความที่ปรากฏในบทความแต่ละเรื่องในวารสารวิชาการเล่มนี้เป็นความคิดเห็นส่วนตัวของผู้เขียนแต่ละท่านไม่เกี่ยวข้องกับมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และคณาจารย์ท่านอื่นๆในมหาวิทยาลัยฯ แต่อย่างใด ความรับผิดชอบองค์ประกอบทั้งหมดของบทความแต่ละเรื่องเป็นของผู้เขียนแต่ละท่าน หากมีความผิดพลาดใด ๆ ผู้เขียนแต่ละท่านจะรับผิดชอบบทความของตนเองแต่ผู้เดียว