ปัจจัยที่เกี่ยวข้องกับการปฏิบัติของบิดามารดาในเด็กที่ชักจากไข้สูง

Authors

  • สุธิศา ล่ามช้าง
  • ณัฏฐณิชา ศรีบุณยวัฒน
  • ทิพาพร นักหล่อ
  • ปรีชา ล่ามช้าง

Keywords:

การปฏิบัติ, บิดามารดา, เด็ก, การชักจากไข้สูง

Abstract

          อาการชักจากไข้สูงในเด็กเป็นเหตุการณ์ที่คุกคามต่อชีวิต ทำให้บิดามารดามีความห่วงกังวลอย่างมากอาจนำไปสู่การปฏิบัติที่ไม่เหมาะสม การศึกษาเชิงพรรณนาหาความสัมพันธ์ครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาปัจจัยที่เกี่ยวข้องกับการปฏิบัติของบิดามารดาในเด็กที่ชักจากไข้สูง กลุ่มตัวอย่างคือ บิดามารดาของเด็กที่มีอาการชักจากไข้สูง เด็กมีอายุ 1 วัน ถึง 6 ปี และเข้ารับการรักษาในแผนกกุมารเวชศาสตร์ โรงพยาบาลมหาราชนครเชียงใหม่ โรงพยาบาลลำปาง และโรงพยาบาลพุทธชินราช พิษณุโลก ระหว่าง เดือนมกราคม ถึงเดือนเมษายน พ.ศ. 2558 จำนวน 92 ราย เลือกกลุ่มตัวอย่างแบบเจาะจง เครื่องมือในการวิจัยประกอบด้วย แบบสอบถาม ความรู้ ทัศนคติ ความห่วงกังวลเกี่ยวกับอาการชักจากไข้สูง และการปฏิบัติของบิดา มารดาในเด็กที่ชักจากไข้สูง ซึ่งพัฒนาโดย ฮวง ฮวง และโทมัส (2549) วิเคราะห์ข้อมูลโดยใช้สถิติพรรณนาและสัมประสิทธิ์สหสัมพันธ์แบบสเปียร์แมน

          ผลการศึกษาพบว่า บิดามารดาทั้งหมดรับรู้ว่าการเจ็บป่วยของเด็กเป็นปัญหา โดย ร้อยละ 64.1 บิดามารดาปฏิบัติเมื่อเด็กมีอาการชักจากไข้เป็นครั้งแรก โดย ร้อยละ 98.9 มีการปฏิบัติในขณะที่เด็กชัก บิดามารดามีปฏิบัติที่ควรทำ คือ ร้อยละ 54.3 ช่วยลดอุณหภูมิร่างกายของเด็ก ร้อยละ 22.8 ปกป้องอันตรายโดยให้นอนบนพื้นที่นุ่มและปลอดภัย ร้อยละ 35.9 จัดให้เด็กนอนตะแคง ร้อยละ 33.7 สงบสติอารมณ์ร้อยละ 52.2 สังเกตอาการและระยะเวลาของการชัก และมีปฏิบัติที่ไม่ควรทำ คือ ร้อยละ 81.5 รีบนำเด็กไปพบแพทย์อย่างเร่งด่วนโดยไม่ช่วยเหลือ ร้อยละ 69.6 เขย่าและปลุกขณะที่เด็กชัก ร้อยละ 63.0 กระตุ้นให้ตื่นขณะที่เด็กมีชัก ร้อยละ 12.0 พยายามช่วยเป่าปากฟื้นคืนชีพ ร้อยละ 25.0 งัดปากหรือฟันและสอดใส่สิ่งของเข้าในปากของเด็ก ร้อยละ 6.5 ช่วยดูดน้ำลายน้ำมูกจากจมูกและปาก ร้อยละ 2.2 ผูกยึดขณะที่เด็กชัก และร้อยละ 7.6 นวดหัวใจ

           ความรู้เกี่ยวกับอาการชักจากไข้สูงมีความสัมพันธ์ทางบวกกับการปฏิบัติของบิดามารดาในเด็กที่ชักจากไข้สูงอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (r=.31, p< .01) แต่ทัศนคติและความห่วงกังวลเกี่ยวกับอาการชักจากไข้สูงไม่มีความสัมพันธ์ทางสถิติกับการปฏิบัติของบิดามารดาในเด็กที่ชักจากไข้สูง

          การศึกษาครั้งนี้ชี้ให้เห็นว่า บิดามารดาของเด็กที่มีอาการชักจากไข้สูงยังมีการปฏิบัติที่ควรทำน้อยและมีการปฏิบัติที่ไม่ควรทำมากและความรู้เกี่ยวกับอาการชักจากไข้สูงในเด็กมีสัมพันธ์กับการปฏิบัติของบิดามารดา ดังนั้น พยาบาลควรให้ข้อมูลหรือสอนบิดามารดาเกี่ยวกับการปฏิบัติในขณะที่เด็กมีอาการชักทั้งนี้เพื่อส่งเสริมให้บิดามารดาปฏิบัติในขณะที่เด็กมีอาการชักได้อย่างเหมาะสม

Downloads

Published

2015-11-30

How to Cite

ล่ามช้าง ส., ศรีบุณยวัฒน ณ., นักหล่อ ท., & ล่ามช้าง ป. (2015). ปัจจัยที่เกี่ยวข้องกับการปฏิบัติของบิดามารดาในเด็กที่ชักจากไข้สูง. Nursing Journal CMU, 42, 166–177. Retrieved from https://he02.tci-thaijo.org/index.php/cmunursing/article/view/57275