ประสิทธิผลของการสอนทบทวนโดยคอมพิวเตอร์ช่วยสอนเรื่องการควบคุมอาหารสำหรับป้องกันโรคหัวใจขาดเลือดต่อพฤติกรรมการบริโภคอาหารในผู้ป่วยที่มีภาวะเสี่ยง
Keywords:
การสอนทบทวน, คอมพิวเตอร์ช่วยสอน, การควบคุมอาหารสำหรับป้องกันโรคหัวใจขาดเลือด,Abstract
การวิจัยครั้งนี้เป็นการวิจัยกึ่งทดลองแบบสองกลุ่มวัดก่อนและหลัง โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อประเมินประสิทธิผลของโปรแกรมคอมพิวเตอร์ช่วยสอนเรื่องการควบคุมอาหารสำหรับป้องกันโรคหัวใจขาดเลือดต่อพฤติกรรมการบริโภคอาหาร กลุ่มตัวอย่างคือผู้ป่วยที่มีภาวะเสี่ยงต่อโรคหัวใจขาดเลือดจำนวนทั้งหมด 57 ราย โดยแบ่งเป็นกลุ่มทดลอง 29 ราย และกลุ่มควบคุม 28 ราย เครื่องมือที่ใช้ในการทดลองประกอบด้วยโปรแกรมคอมพิวเตอร์ช่วยสอนและคู่มือเรื่องการควบคุมอาหารเพื่อป้องกันโรคหัวใจขาดเลือดเครื่องมือที่ใช้ในการรวบรวมข้อมูล ประกอบด้วยแบบสอบถามพฤติกรรมการบริโภคอาหาร การตรวจสอบคุณภาพของแบบสอบถามพฤติกรรมการบริโภคอาหารได้ค่าได้ค่าดัชนีความตรงของเนื้อหาเท่ากับ 1 การตรวจสอบความเชื่อมั่นแบบสอบถามพฤติกรรมการบริโภคอาหารด้วยวิธีสัมประสิทธิ์อัลฟาของครอนบาคได้ค่าความเชื่อมั่นเท่ากับ .80 กลุ่มทดลองได้รับคำแนะนำโดยใช้โปรแกรมคอมพิวเตอร์ช่วยสอน และกลุ่มควบคุมได้รับคำแนะนำโดยการสอนตามปกติตามแผนการพยาบาลของหน่วยตรวจพิเศษทางโรคหัวใจและหลอดเลือดแบบภายนอก วิเคราะห์ข้อมูลโดยใช้สถิติบรรยาย สถิติไคสแควร์ สถิติการทดสอบค่าทีแบบสองกลุ่มอิสระ สถิติการทดสอบค่าทีแบบสองกลุ่มสัมพันธ์กัน และการวิเคราะห์ความแปรปรวนร่วม
ผลการวิจัยครั้งนี้มีดังนี้ ในระยะหลังการทดลองคะแนนพฤติกรรมการบริโภคอาหารของกลุ่มทดลองสูงกว่าคะแนนของกลุ่มควบคุมอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .05 คะแนนพฤติกรรมการบริโภคอาหารของกลุ่มทดลองในระยะหลังการทดลองสูงกว่าคะแนนในระยะก่อนทดลองอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .05
ผลการวิจัยครั้งนี้แสดงให้เห็นว่าโปรแกรมคอมพิวเตอร์ช่วยสอนนี้มีความเหมาะสมที่จะนำไปใช้เพื่อเป็นสื่อประ กอบในการให้คำแนะนำแก่ผู้ป่วยที่มีภาวะเสี่ยงเพื่อให้มีความรู้เกี่ยวกับพฤติกรรมการบริโภคอาหารที่ถูกต้องซึ่งจะนำไปสู่ความสามารถในการป้องกันโรคหัวใจขาดเลือดได้ดียิ่งขึ้น
Downloads
Published
How to Cite
Issue
Section
License
บทความที่ได้รับการตีพิมพ์เป็นลิขสิทธิ์ของวารสารพยาบาลสาร
ข้อความที่ปรากฏในบทความแต่ละเรื่องในวารสารวิชาการเล่มนี้เป็นความคิดเห็นส่วนตัวของผู้เขียนแต่ละท่านไม่เกี่ยวข้องกับมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และคณาจารย์ท่านอื่นๆในมหาวิทยาลัยฯ แต่อย่างใด ความรับผิดชอบองค์ประกอบทั้งหมดของบทความแต่ละเรื่องเป็นของผู้เขียนแต่ละท่าน หากมีความผิดพลาดใด ๆ ผู้เขียนแต่ละท่านจะรับผิดชอบบทความของตนเองแต่ผู้เดียว