Editor's Note
Abstract
ในช่วงระยะนี้ ประเทศไทยมีความเคลื่อนไหวเรื่องของความรับผิดชอบในการทำวิจัยและการเผยแพร่ผลงานวิจัย ซึ่งในสหรัฐอเมริกามีหน่วยงานของรัฐชื่อ Office of Responsible Research Practices ที่ดูแลเรื่องนี้ อย่างไรก็ตาม ในประเทศไทยยังไม่มีหน่วยงานหรือกฎหมายที่ดูแลโดยตรง แต่มีแนวทางจรรยาวิชาชีพวิจัยที่กำหนดโดยคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ (วช.) พ.ศ. 25541 ในเรื่องของการประพฤติมิชอบทางการวิจัย (Research misconduct) ซึ่งประกอบด้วยหัวข้อดังนี้
- การคัดลอกผลงาน หรือแอบอ้างความคิดเห็นของผู้อื่นมาเป็นของตน หรือการลอกเลียนวรรณกรรม (Plagiarism) หมายถึง การนำแนวคิด งาน หรือผลงานของผู้อื่นไปใช้เสมือนว่าเป็นของตน โดยไม่มีการอ้างอิงถึงแหล่งที่มาหรือให้เกียรติเจ้าของผลงานเดิม หรือปกปิดข้อความจริงที่ควรบอกให้ชัดแจ้ง ทำให้บุคคลอื่นเข้าใจผิดว่าเป็นผลงานของตน
- การปลอมแปลงข้อมูล (Falsification) หมายถึง การปกปิด บิดเบือน หรือทำให้ผิดไปจากความจริง โดยการตัดทอน เพิ่มเติม หรือดัดแปลง ปรุงแต่งแก้ไขข้อมูล ข้อความ หรือการปฏิบัติอื่นใดในกระบวนการวิจัยและรายงานข้อค้นพบจากการวิจัย เพื่อให้เป็นไปตามข้อสรุปที่นักวิจัยต้องการ
- การสร้างข้อมูลเท็จหรือการเสกสรรปั้นแต่ง (Fabrication) หมายถึง การสร้างข้อมูลเท็จ การจงใจปั้นแต่งข้อมูลทำให้ผิดไปจากความเป็นจริงที่พบจากการวิจัย การหลีกเลี่ยงที่จะนำเสนอเรื่องหรือสิ่งต่างๆ ตามความเป็นจริง
- ความเป็นผู้นิพนธ์ (Authorship) หมายถึง การเป็นผู้มีส่วนร่วมอย่างสำคัญในการผลิตผลงาน รวมถึงแนวคิด การออกแบบวิจัย การวิเคราะห์ข้อมูลและการแปลผล การอภิปรายผลและข้อเสนอแนะ การร่างรายงานผลการวิจัย (ทั้งหมดหรือเพียงบางส่วน) การตรวจแก้และปรับปรุงร่างรายงานผลการวิจัย
ในฉบับที่ผ่านมา ผมได้กล่าวถึงรายละเอียดของการคัดลอกผลงาน ส่วนเรื่องการปลอมแปลงข้อมูลและการสร้างข้อมูลเท็จหรือการเสกสรรปั้นแต่ง มีรายละเอียดมากจะไม่กล่าวถึงโดยละเอียด แต่จะเล่าถึงตัวอย่างและแหล่งข้อมูลที่น่าสนใจในเรื่องนี้
ตัวอย่างแรกเป็นข่าวที่น่าตกใจ จากสำนักข่าวซินหัวของจีน2 ซึ่งออกข่าวเมื่อวันที่ 28 กรกฎาคม พ.ศ. 2560 โดยกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีของจีนประกาศว่ามีผู้นิพนธ์ จำนวน 486 คน มีความผิดในเรื่องของการประพฤติมิชอบทางการวิจัย จากการสืบสวนของวารสาร Tumor Biology ซึ่งมีการถอนรายงานการวิจัย จำนวน 107 ฉบับ พบว่ามีสาเหตุจากการใช้ Fake peer review3 หมายถึง ผู้นิพนธ์แนะนำชื่อและอีเมล (E-mail) ของนักวิชาการที่สามารถเป็นผู้ประเมินบทความ (Reviewers) แต่อีเมลเหล่านั้นไม่ได้ส่งไปถึงนักวิชาการเหล่านั้นจริง เมื่อวารสารส่งให้ประเมินบทความ (Review) ตามอีเมลที่ระบุ อีเมลนั้นๆ กลับส่งไปที่ตัวผู้นิพนธ์หรือสมัครพรรคพวก แล้วส่งผลการประเมินบทความที่ดีและแนะนำให้วารสารรับตีพิมพ์ (ปัญหานี้เกิดขึ้นเพราะผู้ประเมินบทความนั้นเป็น Free service จึงทำให้หาผู้ประเมินบทความได้ยาก วารสารจึงมักขอให้ผู้นิพนธ์แนะนำผู้ประเมินบทความ)
สำหรับรามาธิบดีเวชสาร เราจะติดต่อผู้ประเมินบทความซึ่งมีความน่าเชื่อถือโดยวารสารเองเท่านั้น และทีมบรรณาธิการจะอ่านรายละเอียดที่ผู้ประเมินบทความท่านนั้นๆ เขียนมาเสมอเพื่อตรวจสอบคุณภาพครับ
ตัวอย่างที่สอง มาจากการประชุม International Congress on Peer Review and Scientific Publication ที่ Chicago เมื่อวันที่ 10-12 กันยายน พ.ศ. 2560 ที่ผ่านมา โดย Jennifer A. Byrne และ Cyril Labbé ได้นำเสนอผลงานของโปรแกรมที่พัฒนาเองในการตรวจสอบความถูกต้องของ Nucleic acid sequences ที่ตีพิมพ์ในวารสาร4 พบว่ามีรายงานวิจัย จำนวน 43 ฉบับ ที่ตรวจพบความผิดปกติ เมื่อทั้งคู่ส่งข้อมูลไปที่วารสารที่ตีพิมพ์พบว่าวารสาร BioMed Research International (BMRI) ได้ถอนรายงานวิจัย จำนวน 2 ฉบับ และวารสาร The Korean Journal of Physiology & Pharmacology ถอนรายงานวิจัย จำนวน 1 ฉบับ
หากผู้อ่านสนใจตัวอย่างปัญหาเหล่านี้เพิ่มเติม มีเว็บไซต์ที่น่าสนใจชื่อ retractionwatch.com ซึ่งคอยติดตามและรายงานการถอนรายงานการวิจัย โดยส่วนใหญ่มีสาเหตุมาจากปัญหาสี่ข้อตามที่ระบุข้างต้น ซึ่งมีเรื่องราวและเหตุผลที่น่าสนใจ ผมแนะนำให้ติดตามอ่านครับ
References
https://www.mahidol.ac.th/th/latest_news59/Governance/20.จรรยาบรรณนักวิจัย%202554.pdf. Accessed September 18, 2017.
China announces result of academic fraud investigation. https://news.xinhuanet.com/english/2017-07/28/c_136480677.htm. Accessed September 18, 2017.
Stigbrand T. Retraction Note to multiple articles in Tumor Biology. Tumor Biol. 2017; doi:10.1007/s13277-017-5487-6.
Bryne J. Fact Checking Nucleotide Sequences in Life Science Publications: The Seek & Blastn Tool. https://peerreviewcongress.org/prc17-0177. Accessed September 18, 2017.