Editor's Note
Abstract
เมื่อเร็วๆ นี้ ทางรามาธิบดีเวชสารได้พบกับปัญหาของ plagiarism ซึ่งศัพท์บัญญัติราชบัณฑิตยสถานและ สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) แปลว่า “การลอกเลียนทางวรรณกรรม” ปัญหา plagiarism ถือว่าพบได้บ่อย โดยจากงานวิจัยหนึ่งที่ตรวจสอบบทความที่ส่งไปที่ American Journal of Roentgenology (AJR) โดย Taylor DB.1 พบว่า จากการสุ่ม 110 บทความจากทั้งหมด 1160 บทความที่ส่งในปี 2014 มีถึง 12% ที่ตรวจพบว่าเป็น plagiarism
ปัญหานี้ในประเทศไทยไม่มีรายงานที่ชัดเจน เพราะโดยปกติแล้วตรวจพบได้ยากมากสำหรับวารสาร
ซึ่งตีพิมพ์บทความที่เป็นภาษาไทย เนื่องจากปัจจุบันยังไม่มีเครื่องมือที่สามารถตรวจสอบ plagiarism ระหว่างบทความภาษไทย และที่ยากขึ้นไปอีกคือ plagiarism ระหว่างภาษา เช่น การแปลจากภาษาอื่นเป็นภาษาไทย
วิธีเดียวที่ทำได้ในปัจจุบันคือ การอ่านโดยผู้ทรงคุณวุฒิที่มีประสบการณ์และอ่านมามาก
การกำหนดขอบเขตของ plagiarism ไม่ได้มีเกณฑ์ที่ชัดเจนนัก Wager E.2 ได้แนะนำหลักเกณฑ์เบื้องต้นดังนี้
- ปริมาณหรือขอบเขต (Extent) โดยดูว่าปริมาณมากน้อยเท่าใด ซึ่งไม่ได้มีกรอบชัดเจน แต่ถ้า
ลอกเลียนทั้งบทความ หรือเป็นส่วนใหญ่ของบทความ ก็จะสงสัยว่าน่าจะเป็น plagiarism กรณีที่มีการนำข้อความหรือข้อมูลจำนวนมากมาใส่ในบทความแล้วใช้วิธีการอ้างอิงถึงอาจจะไม่เพียงพอ ต้องมีการขอความยินยอมหรือลิขสิทธิ์เป็นทางการ - ความเริ่มแรก (Originality of copied material) กรณีนี้ในวารสารทางวิทยาศาสตร์มักหมายถึง รูปภาพ ซึ่งแม้นำมาเพียงรูปเดียวโดยไม่มีการอ้างอิงหรือขอลิขสิทธิ์ที่เหมาะสม ก็อาจถูกตีความมีเจตนาเป็น plagiarism ได้
- บริบทของเนื้อหา (Position/Context) เนื่องจากเนื้อหาในบางส่วนของบทความโดยเฉพาะผลงานวิจัยมักมีข้อความที่คล้ายๆ กัน เช่น วิธีการตรวจทางห้องปฏิบัติการที่ใช้บ่อย วิธีวิเคราะห์ทางสถิติ เป็นต้น ดังนั้น ความคล้ายคลึงในส่วนนี้อาจไม่ถูกพิจารณาว่าเป็น plagiarism แต่หากปรากฏในส่วนอื่นของบทความก็อาจถูกพิจารณาว่ามีเจตนาเป็น plagiarism
- การอ้างอิง (Referencing/Attrition) ปัญหาของส่วนนี้มักมาจากการอ้างอิงที่ไม่ถูกต้อง กรณีที่พบบ่อยคือ ผู้นิพนธ์นำข้อมูลมาจากบทความที่อ้างอิงมาจากงานวิจัยต้นฉบับ บางทีก็มีการอ้างอิงมาหลายทอด และ
ผู้นิพนธ์อาจเข้าใจว่าได้อ้างอิงหรือขอความยินยอมที่เหมาะสมแล้ว แต่ไม่ได้ตรวจสอบให้ดีว่าไม่ได้อ้างอิงไปถึงงานวิจัยต้นฉบับ ซึ่งอาจทำให้ถูกพิจารณาว่ามีเจตนา plagiarism ได้ - เจตนา (Intention) การดูเจตนานี้จะขึ้นกับบรรณาธิการของแต่ละวารสาร เพราะบรรณาธิการไม่มีสิทธิสอบสวนผู้นิพนธ์ได้ จะทำได้แต่ดูปัจจัยแวดล้อมอื่นๆ ประกอบ แต่ข้อนี้มีผลมากต่อการตัดสินว่าเป็น plagiarism หรือไม่
- ประสบการณ์ของผู้นิพนธ์ (Author seniority) กรณีที่ตรวจพบหรือสงสัยว่าจะเป็น plagiarism บรรณาธิการจะดูว่าผู้นิพนธ์นี้ได้เขียนหรือเคยตีพิมพ์มามากหรือยัง หากเป็นผู้นิพนธ์ที่มีประสบการณ์
(รวมถึงผู้นิพนธ์ร่วม เช่น หัวหน้าหน่วย หรืออาจารย์ที่ปรึกษาที่มีชื่ออยู่) ก็จะถูกตีความว่ามีเจตนา plagiarism
เพราะโอกาสที่จะเกิดจากความรู้เท่าไม่ถึงการณ์จะลดลงไปมาก - ภาษา (Language) เนื่องจากไม่มีเครื่องมือที่สามารถตรวจระหว่างภาษา หากตรวจพบหรือต้องสงสัยว่าเป็น plagiarism ก็จะมีแนวโน้มที่บรรณาธิการจะเชื่อว่าเป็น plagiarism เพราะผู้มีนิพนธ์อาจมีเจตนากระทำ
ด้วยเชื่อว่าตรวจได้ยาก
จากข้อแนะนำของ Wager E. ไม่ได้เป็นกฎเกณฑ์สากลที่เป็นที่ยอมรับโดยทั่วไป การตัดสินขึ้นกับบริบทของบรรณาธิการและวารสารนั้นๆ การดำเนินการต่อ plagiarism ก็ไม่ได้มีกติกาที่ชัดเจน โดยมีตั้งแต่
การเตือน การปฏิเสธบทความ จนถึงการร้องเรียนต่อสถาบันของผู้นิพนธ์
ทั้งนี้ ผู้อ่านสามารถศึกษาข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับ plagiarism ได้ที่เว็บไซต์ https://plagiarism.org ครับ
References
Taylor DB. JOURNAL CLUB: Plagiarism in Manuscripts Submitted to the AJR: Development of an Optimal Screening Algorithm and Management Pathways. AJR Am J Roentgenol. 2017;208(4):712-720. doi:10.2214/AJR.16.17208.
Wager E. How should editors respond to plagiarism? COPE discussion paper. https://publicationethics.org/files/COPE_plagiarism_discussion_%20doc_26%20Apr%2011.pdf. Update April 2011. Accessed July 2017.