Editor's Note
Abstract
รามาธิบดีเวชสารได้รับการจัดกลุ่มจากศูนย์ดัชนีการอ้างอิงวารสารไทย (TCI) ให้อยู่ในกลุ่มที่ 1 จากสามกลุ่ม ซึ่งการจัดการกลุ่มนี้เป็นการจัดลำดับตามคุณภาพวารสาร โดยเกณฑ์การวัดคุณภาพมีดังนี้(1)
1. บทความทุกบทความต้องมีการควบคุมคุณภาพจากผู้ทรงคุณวุฒิ (Peer review)
2. ออกตรงตามเวลาที่กำหนด
3. มีอายุการตีพิมพ์บทความวิชาการไม่น้อยกว่า 3 ปี หรือตีพิมพ์อย่างต่อเนื่องไม่น้อยกว่า 6 ฉบับ
4. มี citation ที่ตรวจสอบได้จากฐานข้อมูล TCI
5. มีการกำหนดกติกาและรูปแบบการตีพิมพ์อย่างชัดเจน
6. มีกองบรรณาธิการเป็นผู้ทรงคุณวุฒิมาจากหลากหลายหน่วยงาน
7. ตีพิมพ์บทความที่ผู้นิพนธ์มาจากหลากหลายหน่วยงานทั้งภายในและภายนอก
8. มีการตีพิมพ์บทความที่มีรูปแบบการตีพิมพ์และรูปเล่มที่ได้มาตรฐาน
9. มีเว็บไซต์ที่มีข้อมูลกติกาและรูปแบบการตีพิมพ์ และมีการปรับปรุงเนื้อหาให้ทันสมัยอย่างต่อเนื่อง
โดยวารสาร TCI กลุ่มหนึ่งก็จะมีคุณภาพตามเกณฑ์ดังกล่าวเกือบครบทั้งหมด
ผลการจัดลำดับตาม TCI คือการที่วารสารนั้นๆ จะสามารถใช้ในการขอตำแหน่งวิชาการหรือขอจบการศึกษาได้หรือไม่ตามประกาศของสำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา (สกอ) แต่พึงทราบว่าการจัดลำดับของ TCI เป็นการบ่งชี้คุณภาพของตัววารสารแต่ไม่ได้บ่งชี้คุณภาพของตัวบทความในวารสาร
มีตัวบ่งชี้หนึ่งที่เป็นที่รู้จักกันดี คือ Impact Factor ซึ่งริเริ่มโดย Eugene Garfield ผู้ก่อตั้ง Institute for Scientific Information (ISI) ซึ่งปัจจุบันคือ Web of Science ของบริษัท Thomson Reuter โดย Impact Factor นั้น เป็นการบอกค่าเฉลี่ยจำนวนครั้งที่บทความในวารสารถูกอ้างอิงในแต่ละปี ซึ่งบ่งชี้เป็นนัยถึงความนิยมหรือคุณภาพของวารสาร จนเป็นที่ใช้กันแพร่หลายถึงว่าวารสารที่ดีต้องมีค่า Impact Factor สูง
แต่ในระยะหลังมีการตั้งคำถามถึงความน่าเชื่อถือของ Impact Factor โดยข้อมูลที่น่าสนใจจากบทความของ Ewen Callaway(2) ที่แสดงให้เห็นว่า Impact Factor อาจไม่ได้บอกคุณภาพของวารสารจริงๆ ดังภาพในหน้าถัดไป ที่เปรียบเทียบข้อมูลการอ้างอิงของวารสาร Nature ซึ่งเป็นวารสารทางวิทยาศาสตร์ที่มีชื่อเสียงเทียบกับ PLOS One ซึ่งเป็นวารสารแบบเปิดเข้าถึงฟรี (Open Access Journal) ที่จะเห็นได้ว่า Impact Factor ของ Nature อาจสูงเกินจริงไปหลายเท่า เพียงเพราะมีบทความเพียงไม่กี่เรื่องที่มีผู้อ้างอิงสูงมาก
จากความก้าวหน้าทาง internet technology และความนิยมการใช้ Social media ในระยะหลังมีการนิยมใช้ Article-Level Metrics (ALM)(3) มากขึ้น Article-Level Metrics เป็นการจัดลำดับตามจำนวนการ View (อ่าน) Save (เก็บ file หรือ download ไว้) Discuss (พูดถึง วิจารณ์ใน blog หรือ social media) Recommended (แนะนำ บอกต่อ) และ Cited (อ้างอิง) ซึ่งสรุปดังรูปด้านล่าง(4) Article-Level Metrics น่าจะบ่งชี้ถึงคุณภาพในระดับบทความได้ดีกว่า Impact Factor ซึ่งหลายสำนักพิมพ์อย่าง Elsevier, Springer, Oxford Journals และกลุ่มวารสาร Open Access อย่าง PubMed Central, PLOS One ก็ใช้เครื่องมือนี้ในการบ่งชี้คุณภาพบทความ
References
Thai-Journal Citation Index (TCI) Centre. https://www.kmutt.ac.th/jif/public_html/quality_TCI57.html.
Callaway E. Beat it, impact factor! Publishing elite turns against controversial metric. Nature 2016;535(7611):210-1. doi:10.1038/nature.2016.20224.
SPARC. Article-Level Metrics. https://sparcopen.org/our-work/article-level-metrics/.
Lagotto. Public Library of Science (PLOS). https://www.lagotto.io/plos/#knownIssues.