การศึกษาประเมินผลการใช้ส่วนประกอบเลือดของผู้ป่วยมาใช้ในการรักษาแผลเป็นที่ลึกบุ๋มลงไปใต้ผิวหนัง

Main Article Content

ศิริวรรณ สมานพันธุ์
ภูริช ประณีตวตกุล
เฉลิมชัย ชินตระการ
การันต์ ไพสุขศานติวัฒนา

Abstract

บทคัดย่อ


ความเป็นมา แผลเป็นที่ลึกบุ๋มลงไปใต้ผิวหนัง(atrophic scar) เกิดจากกระบวนการผลิตคอลลาเจนและเนื้อเยื่อพังผืด(connective tissue)ไม่สมดุลหรือไม่เพียงพอในการสมานบาดแผลหลังเนื้อเยื่อพื้นผิว(dermis)ได้รับบาดเจ็บ นอกจากนี้ยังมีปัจจัยอื่นๆอีกที่ทำให้เกิดแผลเป็นลึกบุ๋มลงไปใต้ผิวหนัง เช่น ความตึงของแผล เนื้อเยื่อข้างเคียงกัน ความแตกต่างในแต่ละบุคคลในการสมานบาดแผล และการหดรั้งของแผล เมื่อเกิดแผลเป็นจะส่งผลในเรื่องความสวยงาม และยังพบว่ามีผลต่อคุณภาพชีวิตด้วย รวมทั้งปัญหาทางด้านจิตใจและอารมณ์ ซึ่งปัญหาเหล่านี้รุนแรงเทียบเท่ากับปัญหาโรคเรื้อรังต่างๆ อย่างไรก็ตาม ระดับความรุนแรงทางด้านจิตใจไม่ได้สัมพันธ์กับระดับความรุนแรงของรอยโรคผิวหนัง ซึ่งวิธีการรักษาแผลเป็นที่ลึกบุ๋มลงไปใต้ผิวหนังมีหลากหลายวิธี แต่ละวิธีมีข้อดีข้อเสียแตกต่างกัน การศึกษาวิจัยนี้มุ่งเน้นศึกษาถึงผลการใช้ส่วนประกอบเลือดของผู้ป่วยมาใช้ในการรักษาแผลเป็นที่ลึกบุ๋มลงไปใต้ผิวหนังโดยการฉีดบริเวณแผลเป็น เพื่อที่ว่าอนาคตสารประกอบจากเลือดจะสามารถพัฒนานำมาใช้รักษาแผลเป็นที่ลึกบุ๋มลงไปใต้ผิวหนังได้ วัตถุประสงค์ เพื่อศึกษาประเมินผลประสิทธิภาพและความปลอดภัยในการนำเจลจากส่วนประกอบเลือดของผู้ป่วยมาใช้ในการรักษาแผลเป็นที่ลึกบุ๋มลงไปใต้ผิวหนัง


วิธีการศึกษา Cross sectional study จัดทำที่แผนกผู้ป่วยนอกโสต ศอ นาสิก คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล มีผู้ป่วยเข้าร่วมงานวิจัยจำนวน 16 คน ทั้งหมดเป็นผู้ป่วยที่มีลักษณะแผลเป็นที่ลึกบุ๋มลงไปใต้ผิวหนังบริเวณใบหน้าและลำคอ โดยผู้ป่วยจะได้รับการรักษาโดยการฉีดเจลจากส่วนประกอบเลือด มีการบันทึกภาพแผลเป็นก่อนฉีดเจล หลังฉีดเจล และวันนัดตรวจติดตามที่ 1สัปดาห์ 1เดือน 3เดือน และ6เดือนหลังการรักษา มีการประเมินผลหลังการรักษา และวันนัด ทำการตรวจติดตามผู้ป่วยด้วยการตอบแบบสอบถามความเจ็บปวด ผลข้างเคียง และความพึงพอใจ โดยแบบสอบถามความพึงพอใจจะทำการประเมินโดยผู้ป่วยและทีมผู้วิจัยสองท่าน


ผลการศึกษา สารประกอบจากเลือดที่ผ่านกระบวนการทำให้กลายเป็นเจล หรือพลาสมาเจลนั้น เมื่อนำมาใช้ฉีดรักษาผู้ป่วยที่มาด้วยแผลเป็นที่ลึกบุ๋มลงไปใต้ผิวหนังบริเวณใบหน้าและลำคอ พบผู้ป่วยมีอาการเจ็บปวดในระดับต่ำ ( mean pain score =1.88)หลังการรักษาทันที และไม่พบอาการปวดหลังการรักษาใน 1เดือน ส่วนผลข้างเคียงด้านอื่นๆ ประกอบด้วย ผิวหนังอักเสบ ผิวหนังบวมพอง สีผิวไม่สม่ำเสมอ จุดเลือดออกขนาดเล็ก และรอยสะเก็ดของน้ำเลือด ซึ่งผลข้างเคียงดังกล่าวพบหลังการรักษาทันที อยู่ในช่วงไม่มีอาการ จนถึงมีอาการเล็กน้อย และเมื่อ 1เดือนหลังการรักษา มีเพียงสีผิวไม่สม่ำเสมอในผู้ป่วย 1ราย (6.66%) ในเวลา 6เดือนหลังการรักษา ด้านความพึงพอใจโดยผู้ป่วยที่ 6 เดือนหลังการรักษาอยู่ในช่วงดีขึ้นมาก ถึงมากที่สุดในด้านความนุ่มของแผลเป็น รอยแผลเป็นสีจางลง รอยบุ๋มลึกของแผลดีขึ้น และโดยภาพรวมของแผล เมื่อเปรียบเทียบความพึงพอใจที่ 6เดือนหลังการรักษากับความความพึงพอใจหลังการรักษาทันทีของผู้ป่วยและผู้วิจัยพบว่า ระดับความพึงพอใจในด้านความนุ่มของแผล ผู้ป่วยและผู้วิจัยคนที่ 1 ดีขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ(P-value = 0.019, 0.041 ตามลำดับ) ส่วนในแง่ของผู้วิจัยคนที่ 2พบว่าไม่แตกต่างกัน(P-value = 0.082) ในด้านรอยแผลเป็นสีจางลงผู้ป่วยพบว่าดีขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ(P-value = 0.007) ในแง่ของผู้วิจัยทั้ง 2ท่านไม่แตกต่างกัน(P-value = 0.189, 0.334 ตามลำดับ) ด้านรอยบุ๋มลึกดีขึ้นผู้ป่วยพบว่าไม่แตกต่างกัน(P-value = 0.164) ในแง่ของผู้วิจัยทั้ง 2ท่านพบว่าลดลงอย่างมีนัยสำคัญ(P-value = 0.028, 0.004 ตามลำดับ) และสุดท้ายในด้านภาพรวมของแผล ทั้งผู้ป่วยและผู้วิจัยคนที่ 2พบว่าไม่แตกต่างกัน(P-value = 0.189, 0.189 ตามลำดับ) แต่ผู้วิจัยคนที่1 พบว่าลดลงอย่างมีนัยสำคัญ(P-value = 0.041)


บทสรุป เจลจากส่วนประกอบของเลือด หรือพลาสมาเจล สามารถใช้ในการรักษาผู้ป่วยแผลเป็นที่ลึกบุ๋มลงไปใต้ผิวหนังบริเวณใบหน้าและลำคอได้ สามารถอยู่ในร่างกายได้อย่างปลอดภัย และผู้ป่วยมีความพึงพอใจกับผลที่ได้รับในด้านความนุ่มของแผลเป็นและสีจางลง ฉะนั้นแล้วเจลจากส่วนประกอบเลือดจึงเป็นทางเลือกหนึ่งในการรักษาผู้ป่วยที่มีแผลเป็นที่ลึกบุ๋มลงไปใต้ผิวหนังได้ และสามารถพัฒนาให้คุณภาพดีขึ้นได้ต่อไปในอนาคต

Article Details

How to Cite
สมานพันธุ์ ศ., ประณีตวตกุล ภ., ชินตระการ เ. ., & ไพสุขศานติวัฒนา ก. . (2020). การศึกษาประเมินผลการใช้ส่วนประกอบเลือดของผู้ป่วยมาใช้ในการรักษาแผลเป็นที่ลึกบุ๋มลงไปใต้ผิวหนัง. Thai Journal of Otolaryngology Head and Neck Surgery, 20(1), 24–36. Retrieved from https://he02.tci-thaijo.org/index.php/rcotJ/article/view/245051
Section
Reseach Articles

References

1. Weiss ET, Chapas A, Brightman L, Hunzeker C, Hale EK, Karen JK, Bernstein L,Geronemus RG. Successful treatment of atrophic postoperative and traumatic scarring with carbon dioxide ablative fractional resurfacing: quantitative volumetric scar improvement. Archives of dermatology. 2010 Feb 1;146(2):133-40.
2. Patel L, McGrouther D, Chakrabarty K.Evaluating evidence for atrophic scarring treatment modalities. JRSM open. 2014 Sep;5(9):2054270414540139.
3. Fife D. Practical evaluation and management of atrophic acne scars: tips for the general dermatologist. The Journal of clinical and aesthetic dermatology. 2011 Aug;4(8):50-7.
4. Jacob CI, Dover JS, Kaminer MS. Acne scarring: a classification system and review of treatment options. Journal of the American Academy of Dermatology. 2001 Jul;45(1):109-17.
5. Wang P, Qu Y, Man Y. Platelet-rich plasma as a scaffold for injectable soft-tissue augmentation. Cytotherapy. 2010 Sep;12(5):701-2.
6. Fukaya M, Ito A. A new economic method for preparing platelet-rich plasma. Plastic and Reconstructive Surgery Global Open. 2014 Jun;2(6):e162.
7. Fabbrocini G, De Vita V, Pastore F, Panariello L, Fardella N, Sepulveres R, D’Agostino E,Cameli N, Tosti A. Combined use of skin needling and platelet-rich plasma in acne scarring treatment. Cosmetic Dermatology.2011 Apr;24(4):177-83.
8. Alser OH, Goutos I. The evidence behind the use of platelet-rich plasma (PRP) in scar management: a literature review. Scars, burns & healing. 2018 Jan-Dec;4:20595131 18808773.
9. Deshmukh NS, Belgaumkar VA. Platelet-Rich Plasma Augments Subcision in Atrophic Acne Scars: A Split-Face Comparative Study.Dermatologic Surgery. 2019 Jan;45(1):90-98.