ป่วยความสูง: ภัยเงียบในการท่องเที่ยวบนที่ราบสูงๆ
Main Article Content
Abstract
เมื่อกลางเดือนเมษายน พ.ศ. ๒๕๕๒ ผู้เขียนมีโอกาสเดินทางไปกับขบวนคาราวาน Toyota Fortuner Club โดยขับรถจากประเทศไทยมุ่งสู่แชงกรีล่า ซึ่งอยู่ทางตะวันตกเฉียงเหนือของมณฑลยูนาน ติดกับทิเบต ประเทศจีน ขบวนคาราวานข้ามแม่น้ำโขงที่ท่าเรืออำเภอเชียงของ จังหวัดเชียงราย ผ่านตอนเหนือของประเทศลาว เข้าสู่มณฑลยูนนาน ประเทศจีน ผ่านเชียงรุ้ง คุนหมิง ต้าลี่ ลี่เจียง ไปยังแชงกรีล่าและเต๋อชิง สุดทางด้วยการขี่ล่อขึ้นไปชมธารน้ำแข็งหมิงหยงซึ่งอยู่ห่างจากชายแดนทิเบตเพียง ๖๐ กิโลเมตร ดินแดนเหล่านี้ เป็นดินแดนในฝัน สวรรค์บนดิน ตั้งแต่คุนหมิงขึ้นไป เป็นที่ราบสูงติดต่อกันจนถึงที่ราบสูงชิงไห่และที่ราบสูงทิเบต มีความสูงจากระดับน้ำทะเลตั้งแต่ ๑๕๐๐ เมตรขึ้นไปเรื่อยๆจนสูงก่วา ๔๐๐๐ เมตร การเดินทางในเส้นทางนี้ต้องขับรถคดเคี้ยวไปตามไหล่เขา ผ่านหุบเขาและข้ามภูเขาสูงหลายลูก ข้ามสันเขาที่ระดับความสูงมากกว่า ๔๒๐๐ เมตร ผ่านภูมิประเทศหลากหลายรูปแบบ เป็นเส้นทางที่มีความสวยงามของธรรมชาติและวัฒนธรรมมาก ยากที่จะหาที่ใดเทียบได้ ในการเดินทางท่องเที่ยวครั้งนี้ ทำให้ผู้เขียนพบปัญหาน่าสนใจคือ นักท่องเที่ยวชาวไทยผู้เดินทางไปท่องเที่ยวบนที่ราบสูงจำนวนหนึ่ง เกิดอาการของ “การป่วยความสูง”
ผู้เขียนเองยอมรับว่า แม้จะเป็นแพทย์ แต่มีความรู้เรื่องการป่วยความสูงน้อยมาก เพราะคิดว่าเป็นเรื่องไกลตัว คิดว่าเป็นเรื่องของนักปีนเขาที่ปีนขึ้นบนภูเขาสูง ๆ เท่านั้น ประเทศไทยตั้งอยู่บนที่ราบลุ่ม ภูเขาในประเทศไทยยังไม่สูงพอที่จะทำให้เกิดการป่วยความสูง นักท่องเที่ยวไทย คงจะไม่มีปัญหากับการป่วยความสูง แต่จากการเดินทางครั้งนี้ ทำให้ทราบว่า มีนักท่องเที่ยวไทยจำนวนมากนิยมเดินทางไปเที่ยวในแหล่งท่องเที่ยวใหม่ ๆในประเทศจีน ซึ่งตั้งอยู่บนที่ราบสูงที่มีความสูงมาก ๆ เช่นแชงกรีล่าและทิเบต มีโอกาสเกิดการป่วยดังกล่าวได้มาก๑ นักท่องเที่ยวส่วนใหญ่ไม่รู้จักการป่วยความสูง จึงไม่รู้วีธีการป้องกันและดูแลรักษาตัวเอง เรื่องการป่วยความสูงจึงไม่ใช่เรื่องไกลตัวอีกต่อไป แต่เป็นเรื่องที่แพทย์ทุกคนควรทราบ เพื่อสามารถให้คำแนะนำและคำปรึกษาแก่ญาติและมิตรตลอดจนบริษัทนำเที่ยวที่จะเดินทางไปเที่ยวแหล่งท่องเที่ยวบนที่ราบสูง ๆ ได้ ในบทความนี้จะใช้แชงกรีล่าและทิเบตเป็นตัวอย่าง เนื่องจากเป็นแหล่งท่องเที่ยวใหม่ซึ่งกำลังเป็นที่สนใจของนักท่องเที่ยวชาวไทย