การวิเคราะห์โมเดลสมการโครงสร้าง เชาวน์อารมณ์ ผลสัมฤทธิ์ทางการศึกษา และความรู้ทางวิทยาศาสตร์การแพทย์ พื้นฐานของนักศึกษาแพทย์
Main Article Content
Abstract
งานวิจัยฉบับนี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาโครงสร้างของเชาวน์อารมณ์ และผลสัมฤทธิ์ทางการศึกษาของ
นักศึกษาแพทย์ ศึกษาความสัมพันธ์เชิงสาเหตุระหว่างเชาวน์อารมณ์ ผลสัมฤทธิ์ทางการศึกษา และความรู้ทางวิทยาศาสตร์การแพทย์พื้นฐานของนักศึกษาแพทย์ศิริราช เพื่อสร้างโมเดลสมการโครงสร้างของเชาวน์อารมณ์ผลสัมฤทธิ์ทางการศึกษา และความรู้ทางวิทยาศาสตร์การแพทย์พื้นฐานของนักศึกษาแพทย์ กลุ่มตัวอย่างเป็นนักศึกษาแพทย์ชั้นปีที่ 4-5 ที่มีผลคะแนนสอบความรู้ทางวิทยาศาสตร์การแพทย์พื้นฐาน จำนวน 233 คน วิเคราะห์ข้อมูลโดยสถิติพื้นฐาน วิเคราะห์ความสัมพันธ์ระหว่างตัวแปรโดยใช้สถิติสัมประสิทธิ์สหสัมพันธ์ของเพียร์สัน และวิเคราะห์ ถดถอยพหุคูณ โดยใช้โปรแกรม SPSS for Windows วิเคราะห์โมเดลสมการโครงสร้างและทดสอบความสอดคล้องของโมเดลสมการโครงสร้างกับข้อมูลเชิงประจักษ์ และทดสอบความไม่แปรเปลี่ยนของโมเดลโดยใช้โปรแกรม LISREL
for Windows
ผลการวิจัยพบว่า ในกลุ่มตัวอย่างมีคะแนนสอบความรู้ทางวิทยาศาสตร์การแพทย์พื้นฐานอยู่ในช่วง 43.00-83.00 คะแนน (คะแนนเต็ม 100) และมีค่าเฉลี่ยเท่ากับ 67.08 คะแนน โดยระหว่างตัวแปรสังเกตได้ของตัวแปรแฝงภายนอก “ผลสัมฤทธิ์ทางการศึกษา” ทั้ง 4 ตัวแปร ได้แก่ ตัวแปรเกรดเฉลี่ยชั้นปีที่ 1 เกรดเฉลี่ยชั้นปีที่ 2 เกรดเฉลี่ยชั้นปีที่ 3 และตัวแปรเกรดเฉลี่ยสะสมหลังจบชั้นปีที่ 3 มีความสัมพันธ์เชิงบวกต่อกันอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับนัยสำคัญ 0.01 กลุ่มตัวแปรสังเกตได้ของตัวแปรแฝงผลสัมฤทธิ์ทางการศึกษารวมกับตัวแปรสังเกตได้ของตัวแปรแฝงเชาวน์อารมณ์ สามารถร่วมกันอธิบายความแปรปรวนของตัวแปรคะแนนสอบวัดความรู้ทางวิทยาศาสตร์การแพทย์พื้น
ฐานได้ร้อยละ 72 โมเดลสมการโครงสร้างผลสัมฤทธิ์ทางการศึกษาสอดคล้องกับข้อมูลเชิงประจักษ์อย่างมีนัยสำคัญที่ระดับ 0.05 ด้วยค่า χ2 = 1.48, df= 1, p=0.223, RMSEA=0.045 โมเดลสมการโครงสร้างเชาวน์อารมณ์มีความสอดคล้องกับข้อมูลเชิงประจักษ์อย่างมีนัยสำคัญที่ระดับ 0.05 ด้วยค่า χ2 = 57.71, df= 44, p=0.08, RMSEA= 0.037