การศึกษาระดับการรับรู้และความเข้าใจของบุคลากรในสำนักงานอธิการบดีต่อค่านิยมมหาวิทยาลัยมหิดล เพื่อวางแผนการพัฒนาและปลูกฝังค่านิยมให้คงอยู่อย่างยั่งยืน

Main Article Content

เกศินี ชาวนา

Abstract

การวิจัยครั้งนี้มีจุดมุ่งหมายเพื่อ ๑) ศึกษาระดับการรับรู้ ความเข้าใจ และทัศนคติที่มีต่อค่านิยมมหาวิทยาลัยมหิดลของบุคลากรในสำนักงานอธิการบดี ๒) ศึกษาพฤติกรรมที่สอดคล้องกับค่านิยมมหาวิทยาลัยมหิดลของบุคลากรในสำนักงานอธิการบดี และ ๓) ศึกษาปฏิสัมพันธ์ระหว่างการรับรู้ ความเข้าใจ ทัศนคติ และพฤติกรรม กับกิจกรรมในโครงการเสริมสร้างวัฒนธรรมองค์การ กลุ่มตัวอย่างเป็นบุคลากรในสำนักงานอธิการบดี ยกเว้น ศูนย์การแพทย์กาญจนาภิเษก วิทยาเขตนครสวรรค์ วิทยาเขตกาญจนบุรี และวิทยาเขตอำนาจเจริญ จำนวน ๕๑๕ คน ที่ผ่านกิจกรรมในโครงการเสริมสร้างวัฒนธรรมองค์การ และใช้แบบสอบถามเป็นเครื่องมือในการเก็บรวบรวมข้อมูล สถิติที่ใช้ในการวิเคราะห์ข้อมูลคือ ค่าความถี่ ค่าร้อยละ ค่าเฉลี่ยเลขคณิต ส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน วิเคราะห์ทดสอบค่าที (t-test) วิเคราะห์ความแปรปรวนทางเดียว (One-way AnalysisofVariance) และวิเคราะห์ค่าสัมประสิทธิ์สหสัมพันธ์แบบเพียร์สัน (Pearson’sProduct Moment Correlation Coefficient)

ผลการวิจัยพบว่าบุคลากรในสำนักงานอธิการบดีที่ผ่านกิจกรรมในโครงการเสริมสร้างวัฒนธรรมองค์การ มีการรับรู้ค่านิยมมหาวิทยาลัยมหิดลในระดับปานกลาง มีความเข้าใจค่านิยมมหาวิทยาลัยมหิดลในระดับปานกลาง มีทัศนคติที่มีต่อค่านิยมมหาวิทยาลัยมหิดลในระดับสูง และมีพฤติกรรมที่สอดคล้องกับค่านิยมมหาวิทยาลัยมหิดลในระดับสูง ปัจจัยส่วนบุคคลของบุคลากร ด้านเพศ อายุ และอายุงาน ไม่มีผลต่อการรับรู้ค่านิยมมหาวิทยาลัยมหิดล ความเข้าใจค่านิยมมหาวิทยาลัยมหิดล และทัศนคติที่มีต่อค่านิยมมหาวิทยาลัยมหิดล ส่วนอายุงานนั้นมีผลต่อการรับรู้ค่านิยมมหาวิทยาลัยมหิดล อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .๐๑ และพฤติกรรมที่สอดคล้องกับค่านิยมมหาวิทยาลัยมหิดล มีความสัมพันธ์ทางบวกกับความเข้าใจค่านิยมมหาวิทยาลัยมหิดล และทัศนคติที่มีต่อค่านิยมมหาวิทยาลัยมหิดล อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .๐๑

Article Details

How to Cite
1.
ชาวนา เ. การศึกษาระดับการรับรู้และความเข้าใจของบุคลากรในสำนักงานอธิการบดีต่อค่านิยมมหาวิทยาลัยมหิดล เพื่อวางแผนการพัฒนาและปลูกฝังค่านิยมให้คงอยู่อย่างยั่งยืน. Siriraj Med Bull [Internet]. 2017 Mar. 31 [cited 2024 Nov. 22];6(2):51-7. Available from: https://he02.tci-thaijo.org/index.php/simedbull/article/view/81683
Section
Original Article