ปัจจัยที่มีผลต่อการให้รหัสโรคที่เป็นสาเหตุการตายของผู้ป่วยในที่โรงพยาบาลศิริราช

Main Article Content

เพ็ญพร คูณขาว

Abstract

วัตถุประสงค์: เพื่อศึกษาปัจจัยที่มีผลต่อการให้รหัสโรคที่เป็นสาเหตุการตายของผู้ป่วยใน โดยเปรียบเทียบจากการวินิจฉัยโรคที่เป็นสาเหตุการตายในแบบฟอร์มสรุปสาเหตุการตายของเวชระเบียนผู้ป่วยในกับหนังสือรับรองการตาย และศึกษาการสรุปสาเหตุการตายที่เป็นรูปแบบการตาย

วิธีการ: เป็นการวิจัยแบบเชิงพรรณนา โดยศึกษาจากแบบฟอร์มสรุปสาเหตุการตายของเวชระเบียนผู้ป่วยในของ ภาควิชาอายุรศาสตร์ สูติศาสตร์-นรีเวชวิทยา กุมารเวชศาสตร์ ศัลยศาสตร์ ศัลยศาสตร์ออร์โธปิดิกส์ จักษุวิทยา โสต นาสิก ลาริงซ์วิทยา และรังสีวิทยา และหนังสือรับรองการตายของผู้ป่วยที่ถึงแก่กรรมตั้งแต่เดือนมกราคม ถึง ธันวาคม ๒๕๕๑ จำนวน ๒,๒๕๘ ราย เพื่อวิเคราะห์และประมวลผลข้อมูลด้วยวิธีแจกแจงความถี่ ร้อยละ และหาความสัมพันธ์ระหว่างปัจจัยต่าง ๆ พร้อมสรุปผลในแบบบันทึกรายงานผลการตรวจสอบสาเหตุการตาย

ผลการศึกษา: มีเวชระเบียนผู้ป่วยในที่ไม่มีการสรุปสาเหตุการตายในแบบฟอร์มสรุปสาเหตุการตายจำนวน ๕๓ ราย คิดเป็นร้อยละ ๒.๓๕ ซึ่งไม่สามารถเปรียบเทียบผลได้ ดังนั้นเวชระเบียนผู้ป่วยในที่ใช้ในการวิจัยทั้งสิ้นมีจำนวน ๒,๒๐๕ ราย พบว่าเวชระเบียนผู้ป่วยในกับหนังสือรับรองการตายที่มีรหัสโรคที่เป็นสาเหตุการตายตรงกันมีจำนวน ๑,๔๔๙ ราย คิดเป็นร้อยละ ๖๕.๗๑ และรหัสโรคไม่ตรงกันจำนวน ๗๕๖ ราย คิดเป็นร้อยละ ๓๔.๒๙ โดยทั้งนี้เกิด จากแพทย์ผู้สรุปสาเหตุการตายไม่ใช่แพทย์คนเดียวกัน มีจำนวน ๔๓๑ ราย คิดเป็นร้อยละ ๕๗.๐๑ และพบว่าแพทย์ระบุรูปแบบการตาย (mode of death) เป็นสาเหตุการตายในหนังสือรับรองการตายมีจำนวน ๓๓ ราย คิดเป็นร้อยละ ๑.๔๖

สรุป: ปัจจัยที่มีผลต่อการให้รหัสโรคที่เป็นสาเหตุการตายของผู้ป่วยในที่โรงพยาบาลศิริราช ได้แก่ แพทย์ที่สรุปการวินิจฉัยโรคที่เป็นสาเหตุการตายของเวชระเบียนผู้ป่วยในและแพทย์ที่สรุปสาเหตุการตายในหนังสือรับรองการตาย ไม่ใช่แพทย์คนเดียวกัน ทำให้ข้อมูลจาก ๒ แหล่งไม่ตรงกัน ซึ่งส่งผลให้รหัสโรคที่เป็นสาเหตุการตายไม่ตรงกันด้วย

Article Details

How to Cite
1.
คูณขาว เ. ปัจจัยที่มีผลต่อการให้รหัสโรคที่เป็นสาเหตุการตายของผู้ป่วยในที่โรงพยาบาลศิริราช. Siriraj Med Bull [Internet]. 2017 Apr. 3 [cited 2024 Dec. 23];3(2):79-85. Available from: https://he02.tci-thaijo.org/index.php/simedbull/article/view/81932
Section
Original Article