การศึกษาการใช้เทคโนโลยีสารสนเทศเพื่อสนับสนุนการประชุมของคณะกรรมการประจำคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล

Main Article Content

ดุจดาว วงษ์ศรีมงคล

Abstract

วัตถุประสงค์ : เพื่อศึกษาความคิดเห็นของผู้มีส่วนเกี่ยวข้องต่อการนำเทคโนโลยีสารสนเทศมาใช้เพิ่มประสิทธิภาพการประชุมของคณะกรรมการประจำคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล พร้อมเสนอแนวทางการนำทรัพยากรเทคโนโลยีสารสนเทศมาใช้บริหารการประชุมอย่างคุ้มค่า รวมทั้งการแก้ไขปัญหาและอุปสรรค

รูปแบบการวิจัย : การวิจัยเชิงสำรวจ (quantitative and qualitative survey research)

กลุ่มตัวอย่าง : ผู้ปฏิบัติงานในคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล ระหว่างเดือนพฤษภาคมถึงเดืนกรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๕๐ ประกอบด้วยผู้บริหารคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล จำนวน ๒๒ คน และเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง จำนวน ๘ คน รวมทั้งสิ้น ๓๐ คน

วิธีดำเนินการวิจัย : เก็บรวบรวมข้อมูลจากกลุ่มตัวอย่าง ด้วยวิธีการสัมภาษณ์ ตามแบบสัมภาษณ์ที่แบ่งออกเป็น ๒ ส่วน ได้แก่ ส่วนที่ ๑ ข้อมูลส่วนตัว เป็นคำถามแบบปิด และส่วนที่ ๒ ข้อมูลการนำเทคโนโลยีสารสนเทศมาใช้ในการประชุมคณะกรรมการประจำคณะแพทย์ศาสตร์ศิริราชพยาบาล เป็นคำถามแบบปิด ต่อด้วยคำถามแบบเปิด เพื่อสามารถให้ข้อมูลเชิงลึกเกียวกับความรู้ความเข้าใจในเทคโนโลยีสารสนเทศต่างๆของคณะฯ เพื่อการปฏิบัติงาน บริหารงาน และประกอบการตัดสินใจ ประสิทธิภาพของเทคโนโลยีสารสนเทศและคุณภาพของสารสนเทศ ปัญหาอุปสรรคในการใช้เทคโนโลยีสารสนเทศนั้น ๆ และสิ่งที่ต้องการให้ปรับปรุงแก้ไขและพัฒนา เพื่อให้การประชุมคณะฯ มีประสิทธิภาพมากขึ้น

ตัววัดที่สำคัญ : คะแนนความคิดเห็น (ระดับ ๑-๕: น้อยที่สุด-มากที่สุด) และร้อยละของความพึงพอใจของผู้มีส่วนเกี่ยวข้องต่อการนำเทคโนโลยีสารสนเทศมาใช้เพิ่มประสิทธิภาพการประชุมคณะกรรมการประจำคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล

ผลของการวิจัย : กลุ่มตัวอย่างเป็นเพศชาย ร้อยละ ๖๙ มีอายุระหว่าง ๔๑-๖๐ ปี เท่ากับร้อยละ ๘๕ ส่วนใหญ่รับราชการระดับ ๘ ขึ้นไป จบการศึกษาในระดับปริญญาเอก ปฏิบัติราชการมานานกว่า ๑๕ ปี เคยได้รับการศึกษาอบรมเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ปานกลาง (๓.๑๒) มีความรู้เบื้องต้นเกี่ยวกับการใช้คอมพิวเตอร์ในการปฏิบัติงานมาก (๓.๔๒) มีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับเทคโนโลยีสารสนเทศของคณะฯ มากที่สุดในเรื่องประโยชน์ของระบบการประชุมแบบลดเอกสารซึ่งทำให้ลดปริมาณกระดาษ สะดวกในการจัดเก็บ/ค้นหา และประหยัดเวลา/แรงงาน/งบประมาณ (๔.๔๒,๔.๒๗ และ ๔.๒๓ ตามลำดับ) มีความรู้ความเข้าใจปานกลางในการใช้โปรแกรม Microsoft Excel ระบบงานต่าง ๆ ของคณะฯ อันได้แก่ ระบบงานสารบรรณอัตโนมัติ ระบบจัดซื้อจัดจ้าง และระบบงานบุคลากร และในเรื่องการซ่อมบำรุง/ดูแลรักษาเครื่องคอมพิวเตอร์ (๓.๐๔, ๒.๘๕ และ ๒.๖๕ ตามลำดับ) พึงพอใจในคุณภาพหรือประสิทธิภาพของเทคโนโลยีสารสนเทศตามลำดับได้แก่ การที่ผู้บริหารให้การสนับสนุนด้านเทคโนโลยีสารสนเทศ (ร้อยละ ๗๗.๔๗) สานสนเทศที่ได้สนับสนุนการปฏิบัติงานได้ (ร้อยละ ๗๑.๓๖) มีความถูกต้องเป็นปัจจุบัน (ร้อยละ ๗๐.๓๙) รวดเร็วครบถ้วนและตรงกับความต้องการ (ร้อยละ ๖๙.๔๒) คณะฯ มีงบประมาณเพียงพอสำหรับการพัฒนาเทคโนโลยีสารสนเทศ (ร้อยละ ๗๐.๓๙) ระบบงาน ของคณะฯ ทุกระบบ (ร้อยละ ๕๘.๒๗ - ๖๕.๗๙) และวัสดุอุปกรณ์และบุคลากร (ร้อยละ ๕๗.๓๐ - ๖๒.๘๘) ความคิดเห็นเกี่ยวกับปัจจัยที่เป็นปัญหาอุปสรรค โดยรวม (๒.๙๒) ด้านบุคลากร (๓.๐๘) ด้านระบบงานต่าง ๆ ของคณะฯ (๓.๑๒) และด้านข้อมูลที่ได้รับ (๓.๓๘)

สรุป : เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการประชุมของผู้บริหาร ควรนำระบบการประชุมแบบลดเอกสาร และเทคโนโลยีสารสนเทศต่าง ๆ มาใช้เพื่อสนับสนุนการตัดสินใจ และเพื่อการใช้ทรัพยากรขององค์กรอย่างคุ้มค่า ปัจจัยที่ควรให้ความใส่ใจคือ การพัฒนาบุคลากรให้มีความีู้และทักษะในการใช้เทคโนโลยีสารสนเทศเพื่อการปฏิบัติงานและการบริหารจัดการ

Article Details

How to Cite
1.
วงษ์ศรีมงคล ด. การศึกษาการใช้เทคโนโลยีสารสนเทศเพื่อสนับสนุนการประชุมของคณะกรรมการประจำคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล. Siriraj Med Bull [Internet]. 2017 Apr. 4 [cited 2024 Nov. 26];1(1):6-12. Available from: https://he02.tci-thaijo.org/index.php/simedbull/article/view/82061
Section
Original Article