ความพึงพอใจของผู้ป่วยศัลยกรรมช่องปากต่อการประคบเย็นด้วยเจลเก็บรักษาอุณหภูมิ

Authors

  • อมรลักษณ์ เทพบุตร ภาควิชาศัลยศาสตร์ คณะทันตแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
  • เกศกัญญา สัพพะเลข ภาควิชาศัลยศาสตร์ คณะทันตแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

Keywords:

การประคบเย็น, ศัลยกรรมช่องปาก, ความพึงพอใจ, เจลเย็น, cold compression, oral surgery, gel pack, satisfaction

Abstract

     วัตถุประสงค์ของการศึกษาเชิงพรรณนาแบบภาคตัดขวางนี้คือ เพื่อพัฒนาอุปกรณ์ประคบเย็นที่ประดิษฐ์จากเจลเก็บรักษาอุณหภูมิ และสำรวจความพึงพอใจของผู้ป่วยต่อการใช้เจลประคบเย็นที่ประดิษฐ์ขึ้น กลุ่มตัวอย่างคือผู้ป่วยที่ได้รับศัลยกรรมช่องปากที่มีการตัดกระดูกหรือฟันในคลินิกของภาควิชาศัลยศาสตร์ คณะทันตแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ระหว่างเดือนกันยายน-ธันวาคม 2557 ผู้ป่วย 102 คน ได้ทำการประคบเย็นหลังได้รับศัลยกรรมช่องปากด้วยเจลเย็นที่ทำจากเจลเก็บรักษาอุณหภูมิ ความพึงพอใจของผู้ป่วยได้รับการบันทึกโดยใช้แบบสอบถาม 5 ระดับตามมาตรวัดของลิเคิร์ท ซึ่งระดับ 1 แสดงความพึงพอใจน้อยที่สุด ระดับ 5 แสดงถึงความพึงพอใจมากที่สุด วิเคราะห์ข้อมูลโดยใช้ค่าร้อยละ ค่าเฉลี่ย และค่าเบี่ยงเบนมาตรฐาน ผลการศึกษาพบว่า ค่าเฉลี่ยความพึงพอใจด้านขนาด รูปแบบ และความแข็งแรงทนทานของเจลเท่ากับ 4.56 (ค่าเบี่ยงเบนมาตรฐาน 0.47) ค่าเฉลี่ยความพึงพอใจด้านประสิทธิภาพและการพัฒนาเจลเท่ากับ 4.27 (ค่าเบี่ยงเบนมาตรฐาน 0.34) ค่าเฉลี่ยความพึงพอใจด้านการใช้เจลประคบเย็นหลังผ่าตัดเท่ากับ 4.72 (ค่าเบี่ยงเบนมาตรฐาน 0.45) ค่าเฉลี่ยความพึงพอใจรวมทุกด้านเท่ากับ 4.42 (ค่าเบี่ยงเบนมาตรฐาน 0.38) สรุปได้ว่ากลุ่มตัวอย่างมีความพึงพอใจค่อนข้างมากเกือบถึงมากที่สุดต่อเจลที่ประดิษฐ์ขึ้นสำหรับประคบเย็นหลังจากได้รับศัลยกรรมช่องปาก งานวิจัยนี้แสดงให้เห็นว่าเราสามารถดัดแปลงสิ่งของเหลือใช้ให้เกิดประโยชน์ต่อการรักษาทางการแพทย์ได้ เจลที่ประดิษฐ์ขึ้นนี้มีความสะดวกในการใช้ประคบเย็นบริเวณใบหน้าจึงช่วยลดภาวะแทรกซ้อนหลังศัลยกรรมช่องปากได้  นอกจากนี้ยังมีราคาถูก รวมทั้งการนำวัสดุกลับมาใช้ใหม่ยังช่วยลดปริมาณขยะอีกด้วย

 

      Satisfaction of Oral Surgical Patients with Cold Compression Using Temperature – maintaining Gel

     The objectives of this cross-sectional descriptive study were to develop a cold compression tool from temperature-maintaining gel and to survey the patient satisfaction with this created gel. The subjects were patients receiving oral surgical treatment with bone or tooth sectioning at the Department of Oral and Maxillofacial Surgery, Faculty of Dentistry, Chulalongkorn University during September to December 2014. One hundred and two patients utilised the cold compression after receiving oral surgery by applying the cold gel made from temperature-maintaining gel. Patient satisfaction was recorded by 5-level Likert scale questionnaires. The score 1 indicated the least satisfaction while a score of 5 indicated the greatest satisfaction. The data were analyzed by percentage, means and standard deviation (SD). The results showed mean of satisfaction in size, form and the durability of the gel was 4.56 (SD 0.47). The mean of satisfaction in the effectiveness and development of the gel was 4.27 (SD 0.34). The mean of satisfaction in using the gel for cold compression after surgery was 4.72 (SD 0.45). The mean of total satisfaction in all aspects was 4.42 (SD 0.38). In conclusion, the subjects were somewhat to highly satisfied with the created gel for cold compression after receiving oral surgery. This study demonstrated that we can modify waste material to promote therapeutic results. This created gel can be used easily for cold compression in the facial area, thus, reducing complications after oral surgery. Moreover, it incurs low costs. Further to this, recycling also benefits in decreasing waste.


Downloads

Issue

Section

บทความวิจัย (Research Report)