โรคไตอักเสบเฉียบพลันจากการติดเชื้อสเตรปโตคอคคัสของผู้ป่วยเด็กในโรงพยาบาลอุดรธานี

ผู้แต่ง

  • สุณิสา ศิลาเดช โรงพยาบาลอุดรธานี

คำสำคัญ:

acute post streptococcal glomerulonephritis, children, incidence

บทคัดย่อ

โรคไตอักเสบเฉียบพลันจากการติดเชื้อสเตรปโตคอคคัส (Acute Post Streptococcal Glomerulonephritis: APSGN) เป็นสาเหตุของโรคไตอักเสบที่พบบ่อยในเด็กในประเทศกำลังพัฒนา ในประเทศไทยการศึกษาเกี่ยวกับอุบัติการณ์ ลักษณะทางคลินิก และผลการรักษายังไม่ทราบแน่ชัดการพยากรณ์ของโรค APSGN ส่วนใหญ่ดีแต่พบมีภาวะแทรกซ้อนที่รุนแรงได้ การพยากรณ์โรคในระยะยาวยังไม่ทราบแน่ชัด การศึกษาแบบย้อนหลังนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาอุบัติการณ์ ลักษณะทางคลินิก ผลการรักษา ภาวะแทรกซ้อน และผลการติดตามการรักษาของผู้ป่วยเด็ก APSGN ในโรงพยาบาลอุดรธานี ทำการศึกษาโดยการเก็บรวบรวมข้อมูลจากเวชระเบียนของผู้ป่วยเด็กอายุน้อยกว่า 15 ปีที่ได้รับการวินิจฉัยเป็นโรค APSGN ในโรงพยาบาลอุดรธานีระหว่างวันที่ 1 มกราคม 2559 ถึง 31 ธันวาคม 2562 โดยใช้สถิติเชิงพรรณนาแสดงผลเป็น จำนวน ร้อยละ สัดส่วน ค่าเฉลี่ย ส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน พิสัย ค่ามัธยฐาน

ผลการศึกษา ผู้ป่วยทั้งหมด 43 ราย พบอุบัติการณ์การเกิดโรคตั้งแต่ปี 2559 ถึง 2562 เท่ากับ 8.9, 3.6, 1.9, 1.5 รายต่อแสนของประชากรเด็กอายุน้อยกว่า 15 ปี ตามลำดับ เป็นเพศชาย 27 คน (ร้อยละ 62.8) เพศหญิง 16 คน (ร้อยละ 37.2) อัตราส่วนชายต่อหญิง 1.7:1 ผู้ป่วยมีอายุระหว่าง 9.4 ปีถึง 14.9 ปี อายุเฉลี่ย 11.6 ปี การเกิดโรคพบมากในช่วง    ฤดูฝน (กรกฎาคม-กันยายน) อาการแสดงที่พบมากสุดคือความดันโลหิตสูงร้อยละ 90.7 ปัสสาวะมีเลือดปนร้อยละ 90.7 และบวมร้อยละ 81.4 ผู้ป่วยมีประวัติการติดเชื้อในลำคอและทางเดินหายใจส่วนบนนำมาก่อนร้อยละ 60.5  มีการติดเชื้อที่ผิวหนังร้อยละ 11.6 ไม่มีประวัติการติดเชื้อนำมาก่อนร้อยละ 27.9 ผลการตรวจทางห้องปฏิบัติการพบ microscopic    hematuria ร้อยละ 93.0 proteinuria (urine dipstick test) ร้อยละ 88.0 ผลการตรวจเลือด ASO titer ให้ผลบวก    ร้อยละ 97.7 serum C3 ต่ำกว่าค่าปกติทุกรายผลของ BUN และ creatinine มีค่าเฉลี่ย 25.5 mg/dL และ 1.2 mg/dL ตามลำดับ พบภาวะแทรกซ้อนรุนแรงได้แก่ hypertensive encephalopathy 4 ราย (ร้อยละ 9.3) congestive heart failure 5 ราย (ร้อยละ 11.6) และ rapidly progressive glomerulonephritis 2 ราย (ร้อยละ 4.6) ระยะเวลาที่ตรวจไม่พบความดันโลหิตสูง proteinuria และ microscopic hematuriaเฉลี่ย 1.6, 19.0 และ 33.7 สัปดาห์หลังเกิดโรคตามลำดับ

สรุป อุบัติการณ์ของโรค APSGN ในเด็กอายุน้อยกว่า 15 ปี ในโรงพยาบาลอุดรธานีลดลง เช่นเดียวกับในประเทศ อื่น ๆ อาการแสดงที่พบบ่อย คือ ความดันโลหิตสูง ปัสสาวะมีเลือดปน และบวม การส่งตรวจทางห้องปฏิบัติการที่ช่วยในการวินิจฉัยคือ ASO titer และ C3 พบผู้ป่วยที่มีภาวะแทรกซ้อนที่รุนแรงจากโรคค่อนข้างสูงได้แก่ hypertensive encephalopathy, congestive heart failure และ RPGN แต่ผลการรักษาดี ผลการติดตามการรักษาพบว่าผู้ป่วยส่วนใหญ่หายดี และมีการพยากรณ์โรคในระยะสั้นดีมาก

 

References

1. Rodriguez-Iturbe B. Epidemic poststreptococcal glomerulonephritis. Journal of international society of Nephrology 1984; 25(1): 129-36.
2. ยุภาพร อมรชัยเจริญสุข. Acute Poststreptococcal Glomerulonephritis. ใน: ประไพพิมพ์ ธีรคุปต์, กาญจนา ตั้งนรารัชชกิจ, อนิรุจ ภัทรากาญจน์, บรรณาธิการ. ปัญหาสารน้ำอิเล็กโทรไลต์และโรคไตในเด็ก ฉบับเรียบเรียงครั้งที่ 4. กรุงเทพฯ: เนติกุลการพิมพ์; 2554: 176-85.
3. Carapetis JR, Steer AC, Mulholland EK, Weber M. The global burden of group A streptococcal disease. The lancet Infectious diseases 2005; 5(11): 685-94.
4. Rodrigues- Iturbe B, Musser JM. The current state of poststreptococcal glomerulonephritis. Journal of the American Society of Nephrology 2008; 19(10): 1855-64.
5. Thongboonkerd V, Luengpailin J, Cao J, Pierce WM, Cai J, Klein JB, et al. Fluoride exposure attenuates expression of streptococcal pyogenes virulence factor. Journal of biological chemistry 2002; 277(19): 16599-605.
6. สุขชาติ เกิดผล. Acute glomerulonephritis. ใน: โรคไตในเด็ก. พิมพ์ครั้งที่ 2. ขอนแก่น: โรงพิมพ์ศิริภัณฑ์ ออฟเซ็ท; 2531. 103-18.
7. Rodriguez-Iturbe B, Hass M. Post-Strepto coccal Glomerulonephritis. In: Ferretti JJ, Stevens DL, Fischetti VA, editors. Streptococcus pyogenes: Basic Biology to Clinical Manifestations. Oklahoma City: University of Oklahoma Health Sciences Center; 2016. p. 611-30.
8. Wong W, Lennon DR, Crone S Neutze JM, Reed PW. Prospective population-based study on the burden od disease from poststreptococcal glomerulonephritis of hospitalized children in New Zealand: Epidemiology, clinical features, and complications. Journal of Pediatrics and Child Health 2013; 49(10): 850-5.
9. วิภาพร คงศรียาตรา. โรคไตอักเสบเฉียบพลันจากการติดเชื้อสเตรปโตคอคคัสในเด็กที่โรงพยาบาลขอนแก่น.ขอนแก่นวารสาร 2549; (2): 169-75.
10. ปิยพร พงศ์จรรยากุล. โรคไตอักเสบเฉียบพลันจากเชื้อสเตรปโตคอคคัสในเด็กที่โรงพยาบาลศรีษะเกษ. ว.การแพทย์โรงพยาบาลศรีษะเกษ สุรินทร์ บุรีรัมย์ 2548; 20: 37-51.
11. Takeno S, Wisanuyotin S, Jiravittipong A, Sirivichayakul C, Limkittikul K. Risk factors and outcome of atypical acute post-streptococcal glomerulonephritis in pediatrics. Southeast Asian J Trop Med public Health 2013; 44: 281-8.
12. สุวรรณี วิษณุโยธิน. Acute glomerulonephritis. ใน: โรคไตที่พบบ่อยในเด็ก. ขอนแก่น: โรงพิมพ์คลังนานาวิทยา; 2557: 117-28.
13. Gunasekaran K, Krishnamurthy S, Mahadevan S, Harish BN, Kumar AP. Clinical characteristics and outcome of Post-infectious glomerulonephritis in children in Southern India: A Prospective study. Indian journal of pediatrics 2015; 82(10): 896-903.
14. วิวัฒน์ ตปนียโอฬาร. Poststreptococcal glomerulonephritis: oliguria, anuria, and acute renal failure. ใน: วนิช วรรณพฤกษ์, อรุณ งวษ์จิราษฎร์, บรรณาธิการ. ปัญหาสารน้ำอิเล็กโตไลต์และโรคไตในเด็ก. กรุงเทพฯ: โรงพิมพ์ชวนพิมพ์; 2529. 161-8.
15. Sarkissian A, Papazian M, Azatian G, Arikiants N, Babloyan A, Leumann E. An epidemic of acute postinfectious glomerulonephritis in Armenia. Archives of disease in childhood 1997; 77(4): 342-4.

Downloads

เผยแพร่แล้ว

2020-12-30