การพัฒนารูปแบบการเยี่ยมผู้ป่วยที่เข้ารับบริการตรวจสวนหัวใจ ณ ห้องตรวจสวนหัวใจ โรงพยาบาลอุดรธานี

ผู้แต่ง

  • มุกดา นาผล โรงพยาบาลอุดรธานี

คำสำคัญ:

รูปแบบการเยี่ยม, ตรวจสวนหัวใจ

บทคัดย่อ

การศึกษาวิจัยครั้งนี้เป็นการวิจัยและพัฒนา (The research and Development) มีวัตถุประสงค์เพื่อพัฒนารูปแบบการเยี่ยมผู้ป่วยที่เข้ารับบริการตรวจสวนหัวใจ ณ ห้องตรวจสวนหัวใจ โรงพยาบาลอุดรธานี และศึกษาผลลัพธ์ของการใช้รูปแบบการเยี่ยมผู้ป่วยที่เข้ารับบริการตรวจสวนหัวใจ ดำเนินการระหว่างเดือนสิงหาคม 2560 – มิถุนายน 2561 กลุ่มตัวอย่างแบ่งออกเป็น 2 กลุ่ม ได้แก่ พยาบาลวิชาชีพ ห้องตรวจสวนหัวใจ จำนวน 11 คน และ ผู้ป่วยที่เข้ารับบริการตรวจสวนหัวใจ จำนวน 30 ราย ดำเนินการศึกษาวิจัย 3 ขั้นตอน ได้แก่ (1) การสำรวจสภาพปัญหาและพัฒนารูปแบบการเยี่ยมผู้ป่วยที่เข้ารับบริการตรวจสวนหัวใจ โดยวิธีการระดมสมอง (2) ทดลองใช้รูปแบบการเยี่ยม (3) ศึกษาผลลัพธ์ของการใช้รูปแบบการเยี่ยมผู้ป่วยที่เข้ารับบริการตรวจสวนหัวใจ เครื่องมือที่ใช้ในการศึกษาวิจัย ได้แก่ รูปแบบการเยี่ยมผู้ป่วยที่เข้ารับบริการตรวจสวนหัวใจ  เครื่องมือที่เก็บรวบรวม ได้แก่ แบบแสดงความคิดเห็นต่อการใช้แบบบันทึกการเยี่ยมประเมินผู้ป่วยที่เข้ารับบริการตรวจสวนหัวใจ ของพยาบาลวิชาชีพ ห้องตรวจสวนหัวใจ แบบวัดความวิตกกังวล แบบประเมินความพึงพอใจของผู้ป่วยที่เข้ารับบริการตรวจสวนหัวใจ ต่อการเยี่ยม อุบัติการณ์การเลื่อน การทำหัตถการ วิเคราะห์ข้อมูลเชิงปริมาณใช้สถิติหาความถี่ ค่าเฉลี่ย ร้อยละ ส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน การวิเคราะห์ค่าเฉลี่ย ใช้สถิติ Dependent t-test

ผลการศึกษาวิจัยพบว่า รูปแบบการเยี่ยมประกอบด้วย 1) การมอบหมายพยาบาลวิชาชีพห้องตรวจสวนหัวใจ เยี่ยมผู้ป่วยก่อนทำหัตถการล่วงหน้า 1 วัน 2) การประเมินผู้ป่วยโดยใช้แบบประเมิน การเยี่ยมก่อนการทำหัตถการตรวจสวนหัวใจ 3) ให้ข้อมูลคำแนะนำเรื่องวิธีการปฏิบัติตัวสำหรับผู้ป่วยที่เข้ารับบริการตรวจสวนหัวใจโดยใช้แผ่นพับ 4) ประเมินปัญหา  หากพบปัญหา บันทึกและส่งต่อข้อมูลให้แก่ทีมสุขภาพรับทราบ ผลลัพธ์ของการใช้รูปแบบการเยี่ยมครั้งนี้ ได้แก่ ผลลัพธ์ด้านผู้ให้บริการ พบว่า พยาบาลวิชาชีพห้องตรวจสวนหัวใจ ทั้ง 11 คน เห็นด้วยมากต่อการใช้แบบบันทึกการเยี่ยมและแผ่นพับ การให้ข้อมูลเรื่องวิธีการปฏิบัติตัวสำหรับผู้ป่วยที่เข้ารับบริการตรวจสวนหัวใจ ด้านผู้ป่วย พบว่า ระดับความวิตกกังวลเฉลี่ยของผู้ป่วยที่เข้ารับบริการตรวจสวนหัวใจ ก่อนและหลังการเยี่ยม มีค่าเฉลี่ยลดลงจาก 52.03 (S.D. 22.41) เหลือ 32.77 (S.D. 14.30) ความวิตกกังวลลดลงอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (p<0.05) ผู้ป่วยมีความพึงพอใจต่อการเยี่ยมของพยาบาลวิชาชีพในระดับมากที่สุด ไม่พบอุบัติการณ์การเลื่อนการทำหัตถการในผู้ป่วยที่ได้รับการเยี่ยมก่อนทำหัตถการตรวจสวนหัวใจ

 

References

1. กนกพร บุญประเสริฐ. การพัฒนารูปแบบการเยี่ยมผู้ป่วยที่ได้รับการผ่าตัดไส้เลื่อนขาหนีบในโรงพยาบาลหนองไผ่ จังหวัดเพชรบูรณ์ [วิทยานิพนธ์]. ขอนแก่น: มหาวิทยาลัยขอนแก่น; 2549.
2. พิมพา เทพวัลย์, ฉัตรกนก ทุมวิภาต, ดวงรัตน์ วัฒนกิจไกรเลิศ, คะนึงนิจ พงศ์ถาวรกมล. ประสิทธิของโปรแกรมการวางแผนจำหน่ายแบบมีโครงสร้างในผู้ป่วยโรคหลอดเลือดหัวใจเฉียบพลันต่อความสามารถในการปฏิบัติกิจวัตรประจำวัน ความพอใจและการกลับมารับการรักษาซ้ำ. ว.คณะพยาบาลศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล 2554;29(2):121-127.
3. รัชนี ไตรยะวงศ์. โครงการพัฒนารูปแบบการดูแลผู้ป่วยหลังได้รับยาระงับความรู้สึกในห้องพักฟื้น โรงพยาบาลมหาราชนครราชสีมา [วิทยานิพนธ์]. ขอนแก่น: มหาวิทยาลัยขอนแก่น; 2550.
4.โรงพยาบาลอุดรธานี. สถิติผู้มารับบริการตรวจสวนหัวใจ โรงพยาบาลอุดรธานี ปีงบประมาณ 2560-2561. อุดรธานี: โรงพยาบาล; 2561.
5. ศิริทิพย์ สงวนวงศ์วาน สุภาภรณ์ เวชพันธ์ อนงค์ศรี เสงี่ยมศักดิ์ กัลยา อุ่นรัตนะ อรวรรณ เรืองชาติ เดือนเพ็ญ หมื่นสี . ผลของการเตรียมผู้ป่วยล่วงหน้าก่อนได้การระงับความรู้สึก ณ ห้องตรวจผู้ป่วยนอก (คลินิกสุขภาพ-สบายใจเมื่อใกล้วิสัญญี) โรงพยาบาลสรรพสิทธิ์ประสงค์ อุบลราชธานี. 2556; 47: 35-45
6. เกศรา วรชัยมงคลกุล. การศึกษาเปรียบเทียบผลการลดภาวะความดันโลหิตสูงในผู้ป่วยที่ได้รับการรักษาทางยาอย่างเดียวกับผู้ป่วยที่ได้รับการรักษาทางยาร่วมกับดนตรีบำบัด [วิทยานิพนธ์]. เชียงใหม่: มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง; 2556.
7. เรืองศิริ ภานุเวศ.โครงการพัฒนารูปแบบการเยี่ยมประเมินผู้ป่วยก่อนได้รับยาระงับความรู้สึก โรงพยาบาลหนองบัวลำภู [วิทยานิพนธ์]. ขอนแก่น: มหาวิทยาลัยขอนแก่น; 2552.
8. สุปรียา ตันสกุล. ทฤษฎีทางพฤติกรรมศาสตร์. แนวทางการดำเนินงานในงานสุขศึกษาและส่งเสริมสุขภาพ. Journal of Health Education 2550;30:105.
9. หิรัญญา ศรีศักดิ์พงษ์. ความพึงพอใจต่อการเยี่ยมก่อนผ่าตัดและติดตามประเมินผลหลังผ่าตัดของผู้ใช้บริการผ่าตัดศัลยศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี. รามาธิบดีพยาบาลสาร 2546;9:30-38.

Downloads

เผยแพร่แล้ว

2020-12-30