ความสุข : มุมมองการทำงานพยาบาลกับการดูแลผู้ป่วยจิตเวชสูงอายุ

Main Article Content

พนมพร พุ่มจันทร์

บทคัดย่อ

               วัตถุประสงค์ : เพื่อศึกษาความสุขและมุมมองการทำงานของพยาบาลจิตเวชในการดูแลผู้ป่วยจิตเวชสูงอายุ


               วิธีการศึกษา : การวิจัยนี้เป็นการวิจัยเชิงคุณภาพ ศึกษารายกรณี กลุ่มตัวอย่างเป็นพยาบาลจิตเวชที่ทำงาน ณ สถาบันจิตเวชศาสตร์สมเด็จเจ้าพระยา เป็นเวลานานมากกว่า 7 ปี จำนวน 10 คน โดยการสุ่มตัวอย่างแบบเฉพาะเจาะจง เครื่องมือที่ใช้ในการเก็บรวบรวมข้อมูล ประกอบด้วยแบบสอบถามข้อมูลส่วนบุคคล แบบสอบถามระดับความสุข แบบสอบถาม Oxford Happiness Questionnaire รวมถึงแบบสัมภาษณ์แบบมีโครงสร้าง และการสังเกตแบบไม่มีส่วนร่วม


               ผลการศึกษา : พยาบาลจิตเวชกลุ่มตัวอย่างมีความสุขในปัจจุบัน (ค่าเฉลี่ยเท่ากับ 7.8) และโดยรวม (ค่าเฉลี่ยเท่ากับ 90.8) อยู่ในระดับสูง ลักษณะการทำงานเป็นไปตามมาตรฐานการพยาบาล เพื่อให้ผู้ป่วยจิตเวชสูงอายุมีสุขภาวะที่ดีตามศักยภาพ โดยมีการทำงานร่วมกับทีมสหวิชาชีพ เพื่อประเมิน แก้ไขปัญหาสุขภาพทั้งทางร่างกายและจิตใจ จากการที่ผู้ป่วยจิตเวชสูงอายุมีสภาพร่างกายที่เสื่อมถอยลง มีโรคร่วมทางกาย และมีอาการทางจิตเวชจากภาวะสมองเสื่อม ทำให้พยาบาลจิตเวชมีความไม่สบายใจ สงสาร แต่สามารถแยกแยะความรู้สึกได้ตามแนวทางการเรียนที่ผ่านมาให้อยู่ในระดับความเห็นอกเห็นใจ มองว่าเป็นสัจธรรมของชีวิต ในขณะเดียวกันก็มีความสุขในการทำงาน โดยมองว่าเป็นการได้ช่วยเหลือ ได้ทำบุญในขณะปฏิบัติงานไปด้วย


               สรุป : พยาบาลจิตเวชกลุ่มตัวอย่างมีความสุขในการปฏิบัติงานดูแลผู้ป่วยจิตเวชสูงอายุ และมีการปฏิบัติงานตามมาตรฐานการพยาบาล

Article Details

บท
บทความวิจัย