ผลของโปรแกรมส่งเสริมสุขภาพใจโดยใช้สติต่อสุขภาวะทางจิตใจ ของนักเรียนประถมศึกษา
Main Article Content
บทคัดย่อ
วัตถุประสงค์ : การวิจัยกึ่งทดลองแบบมีกลุ่มเปรียบเทียบนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาผลของโปรแกรมส่งเสริมสุขภาพใจโดยใช้สติต่อสุขภาวะทางจิตใจของนักเรียนประถมศึกษา
วิธีการศึกษา : กลุ่มตัวอย่างเป็นนักเรียนประถมศึกษาตอนปลายจาก 2 โรงเรียนในอำเภอพุทธมณฑล จังหวัดนครปฐม คัดเลือกนักเรียนตามเกณฑ์การคัดเข้า ทำการสุ่มโรงเรียนและห้องเรียนได้นักเรียนจำนวน 42 คนจาก 2 ห้องเรียนเข้าเป็นกลุ่มทดลอง และนักเรียนจำนวน 42 คนจาก 2 ห้องเรียนเข้าเป็นกลุ่มควบคุม โดยกลุ่มควบคุมได้รับการฝึกส่งเสริมสุขภาพใจตามปกติของโรงเรียน และกลุ่มทดลองเข้าร่วมโปรแกรมส่งเสริมสุขภาพใจโดยใช้สติเป็นเวลา 7 สัปดาห์ วิเคราะห์ข้อมูลโดยใช้สถิติพรรณนา สถิติทดสอบที และสถิติการวิเคราะห์ความแปรปรวนร่วม ANCOVA
ผลการศึกษา : ภายหลังการทดลอง กลุ่มทดลองมีคะแนนเฉลี่ยการมีสุขภาวะทางจิตใจเพิ่มขึ้น แต่ไม่แตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติระหว่างกลุ่มทดลองและกลุ่มควบคุม จากการวิเคราะห์รายห้องเรียนพบว่า ห้องเรียนที่ 1 ของกลุ่มทดลองและกลุ่มควบคุมมีสุขภาวะทางจิตใจแตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ F(1,35) = 8.901, p = .003) และพบว่าคะแนนเฉลี่ยของการมีสติของกลุ่มทดลองมีความสัมพันธ์กับสุขภาวะทางจิตใจอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (r = .410, p = .007)
สรุป : ผลการวิจัยแสดงว่า โปรแกรมนี้มีส่วนช่วยให้เกิดการเปลี่ยนแปลงของสุขภาวะทางจิตใจโดยสติเป็นตัวแปรที่มีความสัมพันธ์กับการมีสุขภาวะทางจิตใจของนักเรียนประถมศึกษา อย่างไรก็ตามการที่จะส่งเสริมสุขภาวะทางจิตใจให้เกิดประสิทธิผลควรมีการศึกษาต่อไปเกี่ยวกับความแตกต่างของระยะเวลาในการฝึกและลักษณะของนักเรียนในการส่งเสริมสุขภาพใจในโรงเรียน
Article Details
บทความที่ได้รับการตีพิมพ์แล้ว เป็นลิขสิทธิ์ของสมาคมพยาบาลจิตเวชแห่งประเทศไทย