ผลของโปรแกรมการจัดการสุขภาพจิตต่อสุขภาพจิตของนักศึกษาพยาบาล คณะพยาบาลศาสตร์ มหาวิทยาลัยสวนดุสิต
Main Article Content
บทคัดย่อ
วัตถุประสงค์ : การวิจัยกึ่งทดลองครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาผลของโปรแกรมการจัดการสุขภาพจิต ต่อสุขภาพจิตของนักศึกษาพยาบาล มหาวิทยาลัยสวนดุสิต
วิธีการศึกษา : กลุ่มตัวอย่าง คือ นักศึกษาพยาบาล มหาวิทยาลัยสวนดุสิต ผู้ให้ข้อมูลสำคัญได้มาจากประชากรที่ทำการศึกษาด้านสุขภาพจิตและองค์ประกอบสุขภาพจิตโดยการสุ่มเลือกแบบจำเพาะเจาะจง จำนวน 15 คน เพื่อทำการสัมภาษณ์กลุ่มแบบมีโครงสร้างด้วยคำถามปลายเปิด และนักศึกษาพยาบาลที่เข้าร่วมโปรแกรมการจัดการสุขภาพจิต จำนวน 32 คน ที่มีคะแนนสุขภาพจิตระดับต่ำกว่าปกติในคนทั่วไป แบ่งเป็นกลุ่มทดลองและกลุ่มควบคุม กลุ่มละ 16 คน โดยกลุ่มทดลองได้รับโปรแกรมการจัดการสุขภาพจิต จำนวน 9 ครั้ง ๆ ละ 60 - 90 นาที ส่วนกลุ่มควบคุมจะได้รับคำแนะนำด้วยวิธีการให้คำปรึกษาตามปกติ เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัยคือ 1) ดัชนีชี้วัดสุขภาพสุขภาพจิตคนไทย (TMHI-54) 2) แนวทางการสัมภาษณ์ระดับลึกด้านทัศนคติและการปรับตัวต่อการเป็นนักศึกษาพยาบาล และ 3) โปรแกรมการจัดการสุขภาพจิต วิเคราะห์ข้อมูลโดยใช้การวิเคราะห์ทางสถิติทีเทส
ผลการศึกษา: พบว่า 1) นักศึกษาพยาบาลส่วนใหญ่จำนวน 258 คน ร้อยละ 70.7 มีคะแนนสุขภาพจิตในระดับปกติ และมีนักศึกษาพยาบาลส่วนน้อย จำนวน 32 คน ร้อยละ 8.8 มีคะแนนสุขภาพจิตต่ำกว่าระดับปกติ 2) นักศึกษาพยาบาลมีทัศนคติที่ดีต่อวิชาชีพพยาบาล สามารถปรับตัวได้ดีในเรื่องกฎระเบียบต่าง ๆ ความเป็นอยู่และสิ่งแวดล้อม หอพัก สิ่งอำนวยความสะดวก การจัดการเรียนการสอน และสภาพห้องเรียน 3) ภายหลังได้รับโปรแกรมการจัดการสุขภาพจิต กลุ่มทดลองมีค่าคะแนนเฉลี่ยสุขภาพจิต และองค์ประกอบสุขภาพจิตเพิ่มมากกว่าก่อนทดลองอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .05 และ 4) หลังการทดลองคะแนนเฉลี่ยสุขภาพจิตและองค์ประกอบสุขภาพจิตของกลุ่มทดลองสูงกว่ากลุ่มควบคุมอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .05 ยกเว้นองค์ประกอบสุขภาพจิตด้านคุณภาพจิตใจที่กลุ่มทดลองมีค่าคะแนนเฉลี่ยคุณภาพจิตใจหลังเข้าร่วมโปรแกรมฯ ไม่แตกต่างจากกลุ่มควบคุม
สรุป : โปรแกรมการจัดการสุขภาพจิตช่วยทำให้นักศึกษาพยาบาลมีการจัดการสุขภาพจิตสูงขึ้น ก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงการรับรู้ถึงความรู้สึก ตระหนักถึงความรู้สึกของตนเอง และผู้อื่นมากขึ้น ทำให้เกิดแนวทางในการสร้างแรงจูงใจ เข้าใจตนเอง รู้จักตัดสินใจด้วยตนเอง และทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางด้านทัศนคติต่อตนเองและผู้อื่น ดังนั้นอาจารย์และผู้สนใจสามารถนำกิจกรรมในโปรแกรมการจัดการสุขภาพจิตไปปรับใช้กับนักศึกษาได้ตามความเหมาะสมกับโอกาสและสถานที่ และที่สำคัญ ผู้นำโปรแกรมไปใช้ควรมีประสบการณ์ในการฝึกหรือมีทักษะที่ชำนาญ เพื่อให้โปรแกรมการจัดการสุขภาพจิตมีประสิทธิภาพมากขึ้น
Article Details
บทความที่ได้รับการตีพิมพ์แล้ว เป็นลิขสิทธิ์ของสมาคมพยาบาลจิตเวชแห่งประเทศไทย