อิทธิพลของเพศ อายุ ความสามารถในการปฏิบัติกิจวัตรประจำวัน ความว้าเหว่ และความหมกมุ่นครุ่นคิด ต่อภาวะซึมเศร้าในผู้สูงอายุที่อาศัยอยู่ในสถานสงเคราะห์คนชรา

Main Article Content

ยุพารัตน์ รัชดาชาน
โสภิณ แสงอ่อน
พัชรินทร์ นินทจันทร์
มาลาตี รุ่งเรืองศิริพันธ์

บทคัดย่อ

               วัตถุประสงค์ : การวิจัยเชิงทำนายครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาอิทธิพลของเพศ อายุ ความสามารถในการปฏิบัติกิจวัตรประจำวัน ความว้าเหว่ และความหมกมุ่นครุ่นคิด ในการร่วมกันทำนายภาวะซึมเศร้าในผู้สูงอายุที่อาศัยอยู่ในสถานสงเคราะห์คนชรา


               วิธีการศึกษา : กลุ่มตัวอย่างคือ ผู้สูงอายุที่อาศัยอยู่ในศูนย์พัฒนาการจัดสวัสดิการสังคมผู้สูงอายุ 2 แห่งในเขตปริมณฑลภาคกลางที่มีคุณสมบัติตามเกณฑ์คัดเข้า จำนวน 91 คน เก็บข้อมูลด้วยการสัมภาษณ์โดยใช้แบบสอบถาม จำนวน 5 ฉบับ ได้แก่ แบบสอบถามข้อมูลส่วนบุคคล แบบประเมินความสามารถในการปฏิบัติกิจวัตรประจำวันพื้นฐาน ดัชนีบาร์เธลฉบับภาษาไทย แบบสอบถามความว้าเหว่ แบบวัดความครุ่นคิดต่อสถานการณ์ และแบบวัดความเศร้าในผู้สูงอายุไทย 15 ข้อ วิเคราะห์ข้อมูลด้วยสถิติบรรยายและการวิเคราะห์การถดถอยพหุคูณแบบเชิงชั้น


               ผลการศึกษา : ผลการวิจัย พบว่า กลุ่มตัวอย่างมีภาวะซึมเศร้าร้อยละ 27.48 ผลการวิเคราะห์การถดถอยพหุคูณแบบเชิงชั้น พบว่า เพศ อายุ ความสามารถในการปฏิบัติกิจวัตรประจำวัน ความว้าเหว่ และความหมกมุ่นครุ่นคิดสามารถร่วมกันอธิบายความแปรปรวนของภาวะซึมเศร้าในผู้สูงอายุกลุ่มนี้ได้ร้อยละ 39.60 (R2 = .396, F = 11.154, p < .001) โดยปัจจัยที่มีอิทธิพลต่อภาวะซึมเศร้าอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ ได้แก่ ความหมกมุ่นครุ่นคิด (β = .494, t = 4.926, p < .001)


               สรุป : ผลการวิจัยครั้งนี้สามารถนำไปใช้เป็นข้อมูลในการพัฒนาแนวทางการป้องกันหรือบรรเทาความรุนแรงของภาวะซึมเศร้าในผู้สูงอายุที่อาศัยอยู่ในสถานสงเคราะห์คนชราต่อไป

Article Details

บท
บทความวิจัย