ผลของรูปแบบการมีส่วนร่วมของอาจารย์และนักศึกษาแกนนำในกระบวนการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการเลิกสูบบุหรี่ของนักศึกษา

ผู้แต่ง

  • พิมพ์พัฒน์ จันทร์เทียน คณะพยาบาลศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษมบัณฑิต
  • ทัตติยา นครไชย คณะพยาบาลศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฎศรีสะเกษ
  • พัชรนันท์ รัตนภาค คณะพยาบาลศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษมบัณฑิต

คำสำคัญ:

การตัดสินใจ, พฤติกรรมการเลิกสูบบุหรี่, การรับรู้ความสามารถของตนเอง

บทคัดย่อ

                วัตถุประสงค์ : เพื่อศึกษาผลของรูปแบบการมีส่วนร่วมของอาจารย์และนักศึกษาแกนนำในกระบวนการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการเลิกสูบบุหรี่ของนักศึกษา

                วิธีการศึกษา : เป็นการวิจัยแบบกึ่งทดลอง กลุ่มตัวอย่างเป็นนักศึกษาเพศชายของสถาบันอุดมศึกษาแห่งหนึ่งในเขตมีนบุรี แบ่งเป็นกลุ่มทดลอง 30 คน และกลุ่มควบคุม 30 คน เครื่องมือในการวิจัยประกอบด้วย 1)แบบสอบถามเกี่ยวกับข้อมูลทั่วไป พฤติกรรมการสูบบุหรี่ ความตั้งใจในการเลิกบุหรี่ ความสมดุลในการตัดสินใจ การรับรู้ความสามารถของตนเองในการเลิกบุหรี่และพฤติกรรมในการเลิกบุหรี่ 2) รูปแบบการมีส่วนร่วมของอาจารย์และนักศึกษาแกนนำในการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการเลิกบุหรี่โดยผ่านผู้ทรงคุณวุฒิจำนวน 5 ท่าน ตรวจสอบความตรงของแบบสอบถามและนำไปทดลองใช้กับกลุ่มที่มีลักษณะคล้ายคลึงกับกลุ่มตัวอย่างได้ค่าความเชื่อมั่นเท่ากับ 0.84 การเก็บรวบรวมข้อมูลโดยให้กลุ่มทดลองได้รับความรู้เกี่ยวกับพิษภัยของบุหรี่และวิธีการเลิกสูบบุหรี่ รวมทั้งได้รับกิจกรรมตามรูปแบบการมีส่วนร่วมของอาจารย์และนักศึกษาแกนนำในกระบวนการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมการเลิกสูบบุหรี่ สัปดาห์ละ 1 ครั้ง โดยให้คำปรึกษาทางไลน์เป็นเวลา 4 สัปดาห์ และติดตามผลในสัปดาห์ที่ 8 ส่วนกลุ่มควบคุมได้รับความรู้เกี่ยวกับพิษภัยของบุหรี่และวิธีการเลิกสูบบุหรี่ 1 ครั้ง พร้อมทั้งแจกคู่มือการเลิกสูบบุหรี่ และเก็บรวบรวมข้อมูลหลังสิ้นสุดการทดลองในสัปดาห์ที่ 8 วิเคราะห์ข้อมูลทั่วไปโดยใช้สถิติเชิงพรรณนาและเปรียบเทียบความแตกต่างค่าเฉลี่ยคะแนนความสมดุลของการตัดสินใจในการเลิกสูบบุหรี่ การรับรู้ความสามารถตนเองในการเลิกสูบบุหรี่ และพฤติกรรมการเลิกสูบบุหรี่ หลังการทดลองระหว่างกลุ่มทดลองและกลุ่มควบคุมโดยใช้สถิติที

                ผลการศึกษา : ภายหลังการทดลองพบว่ากลุ่มทดลองมีค่าเฉลี่ยคะแนนความสมดุลของการตัดสินใจในการเลิกสูบบุหรี่ การรับรู้ความสามารถตนเองสูงและพฤติกรรมในการเลิกสูบบุหรี่สูงกว่ากลุ่มควบคุม โดยมั่นใจว่าจะปฏิบัติตามคำแนะนำและวิธีการเลิกสูบบุหรี่ได้มากกว่ากลุ่มควบคุมอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (p-value < .05)

                สรุป : ควรดำเนินการภายหลังจากการติดตามผลการศึกษาในระยะยาวว่าสามารถปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการเลิกสูบบุหรี่ได้จริง และสามารถใช้กลุ่มไลน์ให้คำปรึกษาในการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการเลิกสูบบุหรี่ของนักศึกษาในสถาบันอุดมศึกษาต่อไป

Downloads

เผยแพร่แล้ว

2022-01-27