การพัฒนารูปแบบการจัดการเรียนการสอนแบบบูรณาการเพื่อส่งเสริมสมรรถนะการสร้างเสริมสุขภาพผู้สูงอายุของนักศึกษาพยาบาล: กรณีศึกษาฝึกปฏิบัติการดูแลผู้สูงอายุที่มีปัญหาทางสุขภาพจิตในชุมชน

Main Article Content

พเยาว์ พงษ์ศักดิ์ชาติ
พรรณภา เรืองกิจ
วราภรณ์ ภูคา
อัจฉริยา เจริญเกียรติ

บทคัดย่อ

               วัตถุประสงค์ : เพื่อสร้างรูปแบบการเรียนการสอนแบบบูรณาการเพื่อส่งเสริมสมรรถนะการสร้างเสริมสุขภาพผู้สูงอายุของนักศึกษาพยาบาลและศึกษาประสิทธิผลของรูปแบบ


               วิธีการศึกษา : วิธีดำเนินการวิจัย ประกอบด้วย 4 ระยะ ได้แก่ 1) วิเคราะห์สภาพการณ์ 2) สร้างรูปแบบการเรียนการสอนแบบบูรณาการ 3) นำรูปแบบไปใช้ และ 4) ประเมินประสิทธิผลของรูปแบบ กลุ่มตัวอย่างคือนักศึกษาพยาบาล ชั้นปีที่ 3 วิทยาลัยพยาบาลบรมราชชนนี นพรัตน์วชิระ ปีการศึกษา 2563 จำนวน 14  คน เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัยได้แก่ 1) แบบวัดความรู้เชิงบูรณาการ การคิดวิเคราะห์ คิดเชื่อมโยง และแก้ปัญหาเชิงบูรณาการในการสร้างเสริมสุขภาพของนักศึกษาพยาบาล 2) แบบประเมินความคิดเห็นของนักศึกษาพยาบาล อาจารย์ และผู้รับบริการต่อรูปแบบ 3) คู่มือการเรียนการสอนภาคปฏิบัติแบบบูรณาการของนักศึกษาพยาบาลและอาจารย์ และ 4) แบบวัดความเครียด ของกรมสุขภาพจิต วิเคราะห์ข้อมูลโดยใช้สถิติพรรณนา และสถิตินอนพาราเมตริกด้วยเทคนิค Wilcoxon Signed Ranks Test และการวิเคราะห์เนื้อหา


               ผลการศึกษา : รูปแบบการเรียนการสอนแบบบูรณาการเพื่อส่งเสริมสมรรถนะการสร้างเสริมสุขภาพของนักศึกษาพยาบาล ประกอบด้วย 4 องค์ประกอบ ได้แก่ 1) เนื้อหาและแนวคิดหลัก 2) ปฏิสัมพันธ์ระหว่างผู้เรียน ผู้สอน และผู้รับบริการบนพื้นฐานของความเอื้ออาทร 3) กระบวนการเรียนการสอนแบบบูรณาการ และ 4) การประเมินตามสภาพจริง ใช้ระยะเวลา 1 สัปดาห์ ภายหลังการใช้รูปแบบ นักศึกษาพยาบาลมีคะแนนความรู้เชิงบูรณาการ  สมรรถนะการคิดวิเคราะห์ คิดเชื่อมโยงและแก้ปัญหาเชิงบูรณาการในการสร้างเสริมสุขภาพสูงกว่าช่วงก่อนเรียนอย่างมีนัยสําคัญทางสถิติที่ระดับ .01 ผู้สูงอายุที่มีปัญหาสุขภาพจิตในชุมชนที่มีความเครียดระดับสูงมีจำนวนลดลง จากเดิมร้อยละ 42.86 เป็นร้อยละ 14.29 ผู้สูงอายุและผู้ดูแลมีความพึงพอใจต่อรูปแบบรวมทั้งผู้ทรงคุณวุฒิให้การรับรองรูปแบบที่พัฒนาขึ้นว่ามีความถูกต้อง เป็นประโยชน์ เหมาะสม และมีความเป็นไปได้


               สรุป : รูปแบบการเรียนการสอนแบบบูรณาการช่วยพัฒนาสมรรถนะการสร้างเสริมสุขภาพผู้สูงอายุของนักศึกษาพยาบาลได้ ซึ่งสถาบันการศึกษาทางการพยาบาลสามารถนำรูปแบบนี้ไปประยุกต์ใช้ในผู้สูงอายุที่มีปัญหาทางสุขภาพจิตในชุมชนอื่น ๆ

Article Details

บท
บทความวิจัย