ผลการบำบัดตามแนวคิดซาเทียร์ต่ออาการซึมเศร้า ความรู้สึกมีคุณค่าในตนเองและความสอดคล้องกลมกลืนในผู้ป่วยโรคซึมเศร้า
Main Article Content
บทคัดย่อ
วัตถุประสงค์ : เพื่อศึกษาผลการบำบัดตามแนวคิดซาเทียร์ต่ออาการซึมเศร้า ความรู้สึกมีคุณค่าในตนเอง และความสอดคล้องกลมกลืนในผู้ป่วยโรคซึมเศร้า
วิธีการศึกษา : เป็นการวิจัยกึ่งทดลองกลุ่มเดียว โดยศึกษาผู้ป่วยโรคซึมเศร้าที่มารับบริการผู้ป่วยนอกห้องตรวจจิตเวชโรงพยาบาลศรีนครินทร์ในช่วงเดือนตุลาคม 2563 - สิงหาคม 2564 โดยผู้ป่วยจะได้รับการบำบัดตามโปรแกรมบำบัดตามแนวคิดซาเทียร์ทั้งหมด 6 ครั้ง ครั้งละ 60 - 90 นาที สัปดาห์ละ 1 ครั้ง วัดผลก่อนและหลังทดลองทันทีและติดตาม 3 เดือนโดยใช้แบบประเมินอาการซึมเศร้า Hamilton Rating Scale for Depression แบบประเมินความรู้สึกมีคุณค่าในตนเองตามแนวคิด Rosenberg ฉบับภาษาไทย และแบบวัดความสอดคล้องกลมกลืน โดยใช้สถิติ Generalized Estimating Equation ส่วนข้อมูลทางประชากรใช้สถิติเชิงพรรณนา เป็นค่าร้อยละ ค่าเฉลี่ยและ ส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน
ผลการศึกษา : มีผู้ป่วยเข้าร่วมการวิจัย 12 ราย เป็นผู้หญิงทั้งหมด พบว่าโปรแกรมบำบัดตามแนวคิดซาเทียร์ในผู้ป่วยโรคซึมเศร้า สามารถลดอาการซึมเศร้า เพิ่มความรู้สึกมีคุณค่าในตนเองและเพิ่มความสอดคล้องกลมกลืนหลังสิ้นสุดการบำบัดทันทีและหลังติดตาม 3 เดือนได้อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ โดยคะแนนเฉลี่ยอาการซึมเศร้าลดลงกว่าก่อนบำบัดจาก 21.00 เป็น 13.17 และ 9.83 (p < 0.001) คะแนนเฉลี่ยความรู้สึกมีคุณค่าในตนเองสูงขึ้นกว่าก่อนบำบัดจาก 1.86 เป็น 3.52 และ 3.87 (p < 0.001) และคะแนนเฉลี่ยความสอดคล้องกลมกลืนสูงขึ้นกว่าก่อนบำบัดจาก 67.83 เป็น 119.33 และ 125.00 (p < 0.001) ตามลำดับ
สรุป : การบำบัดตามแนวคิดซาเทียร์มีความเหมาะสมที่จะใช้บำบัดในผู้ป่วยโรคซึมเศร้า สามารถลดอาการซึมเศร้า เพิ่มความรู้สึกมีคุณค่าในตนเองและเพิ่มความสอดคล้องกลมกลืน จึงเป็นทางเลือกหนึ่งที่จะใช้บำบัดในผู้ป่วยโรคซึมเศร้าที่มารับบริการแบบผู้ป่วยนอก
Article Details
This work is licensed under a Creative Commons Attribution-NonCommercial-NoDerivatives 4.0 International License.
บทความที่ได้รับการตีพิมพ์แล้ว เป็นลิขสิทธิ์ของสมาคมพยาบาลจิตเวชแห่งประเทศไทย