จริยธรรมตีพิมพ์


บทบาทหน้าที่ของผู้นิพนธ์ (Author Ethic)

1. ผู้นิพนธ์ต้องรับรองว่าผลงานที่ส่งมานั้นเป็นผลงานใหม่และไม่เคยตีพิมพ์ที่ใดมาก่อน และ/หรือไม่อยู่ระหว่างการพิจารณาขอตีพิมพ์ในวารสารอื่น
2. ผู้นิพนธ์ต้องระวังการลอกเลียนผลงานของผู้อื่นรวมถึงการลอกเลียนผลงานตนเอง การอ้างอิงเนื้อหา รูปภาพหรือตารางจากผลงานอื่นต้องได้รับอนุญาตจากเจ้าของลิขสิทธิ์
3. หากมีการนำผลงานหรือข้อความใด ๆ ของตนเองหรือผู้อื่นมาใช้ในบทความ ผู้นิพนธ์ต้องอ้างอิงผลงานเหล่านั้นโดยจัดทำรายการอ้างอิงไว้ท้ายบทความ
4. ผู้นิพนธ์ต้องรายงานข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นจากการทำวิจัยหรือการทบทวนบทความผู้อื่น ไม่บิดเบือนข้อมูล หรือให้ข้อมูลที่เป็นเท็จ
5. ผู้นิพนธ์ต้องเขียนบทความทุกประเภทให้ถูกต้องตามรูปแบบที่กำหนดไว้ใน “คำแนะนำผู้เขียน” (Author guideline)
6. ผู้นิพนธ์ที่มีชื่อปรากฏในบทความทุกคน ต้องเป็นผู้ที่มีส่วนร่วมในการดำเนินการนิพนธ์จริง
7. งานวิจัยที่มีการศึกษาในมนุษย์หรือสัตว์ทดลอง ต้องมีหนังสือรับรองจริยธรรมการวิจัยในมนุษย์หรือสัตว์ทดลอง ที่ผ่านการพิจารณาจากคณะกรรมการจริยธรรมการวิจัยในมนุษย์หรือสัตว์ทดลอง
8. ผู้นิพนธ์ต้องระบุแหล่งทุนที่สนับสนุนในการทำวิจัยนี้ (ถ้ามี)
9. ผู้นิพนธ์ต้องระบุผลประโยชน์ทับซ้อน (ถ้ามี)
10. ผู้นิพนธ์รับทราบว่าบทความที่ได้รับการตีพิมพ์ เป็นลิขสิทธิ์ของสมาคมเภสัชกรรมโรงพยาบาล(ประเทศไทย) ไม่สามารถนำไปตีพิมพ์ในวารสารฉบับอื่นได้


บทบาทหน้าที่ของบรรณาธิการวารสาร (Editor Ethic)

1. บรรณาธิการวารสารมีหน้าที่พิจารณาคุณภาพของบทความเพื่อตีพิมพ์เผยแพร่ในวารสารตามที่เป็นที่ยอมรับในสาขาวิชาที่เกี่ยวข้องในระดับสากล
2. บรรณาธิการจะไม่เปิดเผยข้อมูลของผู้นิพนธ์ และผู้ประเมินบทความ แก่บุคคลอื่นที่ไม่เกี่ยวข้อง ในช่วงระยะเวลาของการประเมินบทความ
3. บรรณาธิการจะคัดเลือกบทความมาตีพิมพ์หลังจากผ่านกระบวนการประเมินบทความแล้ว โดยพิจารณาจากความสำคัญ ความใหม่ ความชัดเจน และความสอดคล้องของเนื้อหากับนโยบายของวารสารเป็นสำคัญ
4. บรรณาธิการไม่รับตีพิมพ์บทความที่เคยตีพิมพ์ที่อื่นมาแล้ว
5. บรรณาธิการไม่มีผลประโยชน์ทับซ้อนกับผู้นิพนธ์ ผู้ประเมิน และทีมผู้บริหาร
6. บรรณาธิการมีการตรวจสอบบทความในด้านการคัดลอก ผลงานผู้อื่น (Plagiarism) และคัดลอกผลงานของตนเอง (Self- Plagiarism) อย่างจริงจัง โดยใช้โปรแกรมที่เชื่อถือได้ เพื่อให้แน่ใจว่าบทความที่ลงตีพิมพ์ในวารสารไม่มีการคัดลอกผลงานของผู้อื่น หากตรวจพบการคัดลอกผลงานของผู้อื่น ในกระบวนการประเมินบทความ บรรณาธิการจะหยุดกระบวนการประเมิน และติดต่อผู้นิพนธ์ทันทีเพื่อขอคำชี้แจง เพื่อประกอบการ “ตอบรับ” หรือ “ปฏิเสธ” การตีพิมพ์บทความนั้น
7. หากบรรณาธิการตรวจพบว่า บทความมีการลอกเลียนบทความอื่นโดยมิชอบ หรือมีการปลอมแปลงข้อมูล ซึ่งสมควรถูกถอดถอน แต่ผู้เขียนปฏิเสธที่จะถอนบทความ บรรณาธิการสามารถดำเนินการถอนบทความได้โดยไม่ต้องได้รับความยินยอมจากผู้เขียนซึ่งถือเป็นสิทธิและความรับผิดชอบต่อบทความของบรรณาธิการ



บทบาทหน้าที่ของผู้ประเมินบทความ (Reviewer Ethic)

1. ผู้ประเมินบทความ ต้องรักษาระยะเวลาประเมินตามกรอบเวลาประเมินที่กำหนด กรณีที่ทราบว่า ตนเองไม่สามารถประเมินบทความได้ด้วยสาเหตุใดก็ตาม ควรแจ้งบรรณาธิการโดยทันที
2. ผู้ประเมินบทความ ต้องไม่เปิดเผยข้อมูลบางส่วนหรือทุกส่วนของบทความที่ส่งมาเพื่อพิจารณาแก่บุคคลอื่นๆ ที่ไม่เกี่ยวข้อง ในช่วงระยะเวลาของการประเมินบทความ ทั้งนี้ แนวคิดหรือข้อมูลของบทความต้องเก็บเป็นความลับ และไม่นำไปใช้ประโยชน์ส่วนตัว
3. หลังจากได้รับบทความจากบรรณาธิการวารสาร และผู้ประเมินบทความตระหนักว่าตนเองอาจมีผลประโยชน์ทับซ้อนกับผู้นิพนธ์ (เช่น เป็นผู้ร่วมโครงการ หรือรู้จักผู้นิพนธ์เป็นการส่วนตัว หรือคู่แข่ง หรือเหตุผลอื่น ๆ) ทำให้ไม่สามารถให้ข้อคิดเห็นและข้อเสนอแนะอย่างอิสระได้ ผู้ประเมินบทความควรแจ้งให้บรรณาธิการวารสารทราบและปฏิเสธการประเมินบทความนั้น ๆ
4. ผู้ประเมินบทความควรประเมินบทความในสาขาวิชาที่ตนมีความเชี่ยวชาญด้วยความเป็นธรรมและปราศจากอคติ โดยพิจารณาความสำคัญของเนื้อหาในบทความที่จะมีต่อสาขาวิชานั้น ๆ คุณภาพของการวิเคราะห์ และความเข้มข้นของผลงาน ไม่ควรใช้ความคิดเห็นส่วนตัวที่ไม่มีข้อมูลรองรับมาเป็นเกณฑ์ในการตัดสินบทความวิจัย คำแนะนำของผู้ประเมินควรละเอียดและสร้างสรรค์โดยมุ่งหวังให้ผู้เขียนนำข้อเสนอแนะไปปรับปรุงแก้ไขผลงานของตนให้เกิดความถูกต้องและมีคุณภาพดียิ่งขึ้น
5. ผู้ประเมินบทความต้องระบุผลงานวิจัยที่สำคัญ ๆ และสอดคล้องกับบทความที่กำลังประเมิน แต่ผู้นิพนธ์ไม่ได้อ้างถึง เข้าไปในการประเมินบทความด้วย นอกจากนี้หากมีส่วนใดของบทความที่มีความเหมือนหรือซ้ำซ้อนกับผลงานชิ้นอื่น ๆ ผู้ประเมินบทความต้องแจ้งให้บรรณาธิการทราบด้วย