เกี่ยวกับวารสาร

วารสารเภสัชกรรมโรงพยาบาลเป็นวารสารระบบเปิด (open access) ที่รวบรวมและเผยแพร่ตีพิมพ์บทความที่ได้รับการกลั่นกรองและประเมินจากผู้ทรงคุณวุฒิพิจารณาบทความ (peer review) ที่มีความรู้ ความชำนาญ และมีประสบการณ์ และไม่มีส่วนได้ส่วนเสียกับผู้เขียนบทความ จำนวน 3 ท่าน โดยในกระบวนการประเมินจะปกปิดข้อมูลของผู้เขียนบทความและผู้ทรงคุณวุฒิพิจารณาบทความ (double blinded peer review)

ชื่อวารสาร (Journal Title)

ชื่อภาษาไทย                   วารสารเภสัชกรรมโรงพยาบาล
ชื่อภาษาอังกฤษ              Thai Journal of Hospital Pharmacy
ชื่อย่อ Initial name        TJHP
Abbreviation name     Thai J Hosp Pharm

วัตถุประสงค์ (Focus)

  1. เพื่อเผยแพร่ผลงานวิจัย ผลงานทางวิชาการ และนวัตกรรมที่เกี่ยวข้องกับการปฏิบัติงานทางเภสัชกรรมในโรงพยาบาลหรือสถานบริการสาธารณสุข ให้กับเภสัชกร บุคลากรสาธารณสุข บุคลากรทางการแพทย์ นักวิจัย อาจารย์ และนักศึกษาระดับบัณฑิตศึกษา
  2. เพื่อให้บริการการศึกษาต่อเนื่องทางเภสัชศาสตร์แก่สมาชิกสมาคมเภสัชกรรมโรงพยาบาล (ประเทศไทย) และผู้สนใจ
  3. เพื่อเป็นแหล่งข้อมูลความรู้ทางวิชาการ และนวัตกรรมด้านเภสัชกรรม ที่สามารถนำไปปฏิบัติได้จริง รวมทั้งสามารถชี้นำและขับเคลื่อนการพัฒนางานเภสัชกรรมโรงพยาบาลในระดับประเทศและ/หรือนานาชาติ

ขอบเขตสาขาวิชา (Scope)
บทความที่รับตีพิมพ์ ได้แก่ บทความที่เกี่ยวข้องกับการปฏิบัติงานบริบาลทางเภสัชกรรม เภสัชกรรมปฏิบัติ เภสัชศาสตร์สังคมและการบริหาร เภสัชเศรษฐศาสตร์ ระบบการจัดการด้านยา เภสัชสาธารณสุข เภสัชกรรมสมุนไพร พิษวิทยา การคุ้มครองผู้บริโภคด้านยาและสุขภาพ นโยบายด้านยาและสุขภาพ การประยุกต์ใช้ศาสตร์ต่าง ๆ ในการปฏิบัติงานเภสัชกรรม และสาขาที่เกี่ยวข้อง

ประเภทบทความที่รับตีพิมพ์ (Type of Article)
นิพนธ์ต้นฉบับ (Original Article) : เป็นบทความผลงานวิจัย หรือ นวัตกรรม ที่ผู้เขียนได้ดำเนินการอย่างมีแบบแผน และได้รับการรับรองจริยธรรมการวิจัยแล้ว ความยาวทั้งบทความ (รวมบทคัดย่อและเอกสารอ้างอิง) ไม่เกิน 12 หน้ากระดาษ A4 เนื้อเรื่องเขียนเป็นภาษาไทย หรือ ภาษาอังกฤษ

บทความรายงานผู้ป่วย (Case Report) : เป็นบทความที่เขียนในรูปแบบรายงานผู้ป่วยที่เขียนพบการเกิดปัญหาที่เกี่ยวกับยา เช่น แพ้ยา (drug allergy) อาการไม่พึงประสงค์จากการใช้ยา (adverse drug reaction) อาการไม่พึงประสงค์จากปฏิกิริยาระหว่างยา (adverse drug interaction) เป็นต้น ความยาวทั้งบทความ (รวมบทคัดย่อและเอกสารอ้างอิง) ไม่เกิน 8 หน้ากระดาษ A4 เขียนเป็นภาษาไทย (ยกเว้นชื่อยาและศัพท์เทคนิค ใช้ภาษาอังกฤษได้)

บทความความปลอดภัยทางยา (Medication Safety) : เป็นบทความปริทัศน์ (review article) ร่วมกับรายงานผู้ป่วย (case report) โดยมีการทบทวนความรู้ทางเภสัชวิทยา กลไกการออกฤทธิ์ การใช้ยา อาการข้างเคียงของยา และการแก้ไขรวมทั้งป้องกันอาการ/เหตุการณ์ที่ไม่พึงประสงค์ที่ทำให้เกิดความไม่ปลอดภัย ร่วมกับมีรายงานผู้ป่วยที่เกิดเหตุการณ์ความไม่ปลอดภัย เพื่อให้ผู้อ่านได้รับความรู้และประสบการณ์การดูแลผู้ป่วย อันจะนำไปสู่ความปลอดภัยทางยา (medication safety) ความยาวทั้งบทความ (รวมบทคัดย่อและเอกสารอ้างอิง) ไม่เกิน 8 หน้ากระดาษ A4 เขียนเป็นภาษาไทย (ยกเว้นชื่อยาและศัพท์เทคนิค สามารถใช้ภาษาอังกฤษได้)

บทความพิษวิทยา (Toxicology) : เป็นบทความปริทัศน์ (review article) ร่วมกับรายงานผู้ป่วย (case report) โดยมีการทบทวนความรู้ด้านพิษวิทยา กลไกการออกฤทธิ์ และอาการพิษของยา สารพิษ พืชพิษ หรือสัตว์พิษ ตลอดจนการแก้ไขเหตุการณ์ที่เกิดความเป็นพิษนั้น ร่วมกับมีรายงานผู้ป่วยที่เกิดอาการพิษ เพื่อให้ผู้อ่านได้รับความรู้และประสบการณ์การดูแลผู้ป่วย ความยาวทั้งบทความ (รวมบทคัดย่อและเอกสารอ้างอิง) ไม่เกิน 8 หน้ากระดาษ A4 เขียนเป็นภาษาไทย (ยกเว้นชื่อยา สารพิษ พืชพิษ สัตว์พิษ และศัพท์เทคนิค สามารถใช้ภาษาอังกฤษได้)

บทความข้อมูลยา (Drug Monograph) : เป็นบทความปริทัศน์ (review article) ที่ผู้เขียนเรียบเรียงจากการรวบรวมความรู้ทางวิชาการหรืองานวิจัย ของยาที่จำหน่ายในประเทศไทย แล้วนำมาอธิบาย หรือเปรียบเทียบคุณสมบัติของยา โดยผ่านการวิเคราะห์ และ สังเคราะห์ ของผู้เขียน ความยาวทั้งบทความ (รวมบทคัดย่อและเอกสารอ้างอิง) ไม่เกิน 8 หน้ากระดาษ A4 เขียนเป็นภาษาไทย (ยกเว้นชื่อโรค ชื่อยา ชื่อรายงานการศึกษาทางคลินิก (clinical trial) และศัพท์เทคนิค สามารถใช้ภาษาอังกฤษได้)

บทความปริทัศน์ (Review Article) เป็นบทความที่ผู้เขียนเรียบเรียงขึ้นใหม่จากการรวบรวมความรู้ทางวิชาการหรืองานวิจัยของตนเองหรือของผู้อื่น แล้วนำมาอธิบาย โดยผ่านการวิเคราะห์ และ สังเคราะห์ ความยาวทั้งบทความ (รวมบทคัดย่อและเอกสารอ้างอิง) ไม่เกิน 8 หน้ากระดาษ A4ป เขียนเป็นภาษาไทย (ยกเว้นชื่อยาและศัพท์เทคนิค สามารถใช้ภาษาอังกฤษได้)

บทความการศึกษาต่อเนื่อง (Continuing Pharmaceutical Education; CPE) : เป็นบทความปริทัศน์ (review article) พร้อมแบบทดสอบ ที่ผู้เขียนเรียบเรียงจากการรวบรวมความรู้ทางวิชาการหรืองานวิจัย แล้วนำมาอธิบาย โดยผ่านการวิเคราะห์ และ สังเคราะห์ ของผู้เขียน เพื่อให้เภสัชกรได้ทบทวนความรู้ทางยาและ/หรือได้ความรู้ใหม่ๆ ทางยา และสามารถเก็บหน่วยกิตการศึกษาต่อเนื่องได้ตามระบบของสภาเภสัชกรรม

กำหนดการตีพิมพ์เผยแพร่วารสารฯ (Publication Frequency)
วารสารมีกำหนดออก ตามเวลาที่กำหนด ปีละ 3 ฉบับ (ราย 4 เดือน)
ฉบับที่ 1 เดือน มกราคม – เมษายน
ฉบับที่ 2 เดือน พฤษภาคม – สิงหาคม
ฉบับที่ 3 เดือน กันยายน – ธันวาคม

การประเมินบทความ (Peer Review Process)
บทความที่ลงตีพิมพ์ในวารสารฯ จะต้องผ่านการพิจารณาให้ความเห็น ทบทวน และตรวจสอบ วิพากษ์ วิจารณ์ ความถูกต้อง เหมาะสมทางวิชาการ จากผู้ทรงคุณวุฒิในสาขาวิชาที่เกี่ยวข้องกับบทความ และไม่เป็นผู้มีส่วนได้ส่วนเสียกับผู้แต่งบทความจำนวนอย่างน้อย 2 ท่านต่อบทความ (ตั้งแต่วันที่ 22 สิงหาคม พ.ศ. 2564 ทุกบทความจะแต่งตั้งผู้ทรงคุณวุฒิที่มีความเชี่ยวชาญในสาขาวิชาที่เกี่ยวข้องเพื่อพิจารณาคุณภาพบทความอย่างน้อย 3 ท่าน) ในรูปแบบพิชยพิจารณ์ (peer-reviewed) ก่อนลงตีพิมพ์ และเป็นการประเมินแบบการปกปิดสองทาง (double blinded) คือ มีการปกปิดชื่อเจ้าของบทความต่อผู้ทรงคุณวุฒิพิจารณาบทความ และเจ้าของบทความไม่ทราบชื่อของผู้ทรงคุณวุฒิพิจารณาบทความ ผลการประเมินมี 4 แบบ คือ ตีพิมพ์ได้โดยไม่ต้องแก้ไข (accept submission) ตีพิมพ์ได้แต่ต้องแก้ไขตามคำแนะนำ (revision required) ต้องแก้ไขตามคำแนะนำและผ่านการพิจารณาใหม่จากผู้ทรงคุณวุฒิพิจารณาบทความ (resubmit for review) และไม่ตีพิมพ์บทความ (decline submission)

หากผลการประเมิน คือ “ตีพิมพ์ได้แต่ต้องแก้ไขตามคำแนะนำ” ผู้แต่งจะต้องแก้ไขบทความให้เสร็จสิ้นภายใน  2 สัปดาห์ และส่งกลับมายังวารสารฯ หลังจากนั้นกองบรรณาธิการจะตรวจสอบบทความฉบับแก้ไข พร้อมทั้งจัดหน้าให้อยู่ในรูปแบบที่พร้อมที่จะเผยแพร่

ลิขสิทธิ์และสิทธิ์ให้ใช้บทความ (Copyright and Right)
วารสารเภสัชกรรมโรงพยาบาลเป็นวารสารในรูปแบบเปิด (Open Access) ผู้ใช้ทั่วไปหรือระบบสารสนเทศของหน่วยงาน ฐานข้อมูลอัตโนมัติ ระบบห้องสมุดอัตโนมัติ สามารถเข้าถึง ดาวน์โหลด เอกสารไฟล์บทความบนเว็บไซต์วารสาร โดยไม่มีค่าใช้จ่ายแต่อย่างใด

ข้อความภายในบทความที่ตีพิมพ์ในวารสารเภสัชกรรมโรงพยาบาลทั้งหมด รวมถึงรูปภาพประกอบ ตาราง เป็นลิขสิทธิ์ของสมาคมเภสัชกรรมโรงพยาบาล (ประเทศไทย) การนำเนื้อหา ข้อความหรือข้อคิดเห็น รูปภาพ ตาราง ของบทความไปจัดพิมพ์เผยแพร่ในรูปแบบต่าง ๆ เพื่อใช้ประโยชน์ในเชิงพาณิชย์ ต้องได้รับอนุญาตจากบรรณาธิการวารสารฯ หรือนายกสมาคมเภสัชกรรมโรงพยาบาล (ประเทศไทย) อย่างเป็นลายลักษณ์อักษร

สมาคมเภสัชกรรมโรงพยาบาล (ประเทศไทย) อนุญาตให้สามารถนำไฟล์บทความไปใช้ประโยชน์และเผยแพร่ต่อได้ โดยอยู่ภายใต้เงื่อนไข สัญญาอนุญาตครีเอทีฟคอมมอน (Creative Commons License: CC) โดย ต้องแสดงที่มาจากวารสาร – ไม่ใช้เพื่อการค้า – ห้ามแก้ไขดัดแปลง, Attribution-NonCommercial-NoDerivatives 4.0 International (CC BY-NC-ND 4.0)

ข้อความที่ปรากฏในบทความในวารสารเป็นความคิดเห็นส่วนตัวของผู้เขียนแต่ละท่านไม่เกี่ยวข้องกับสมาคมเภสัชกรรมโรงพยาบาล (ประเทศไทย) และบุคลากร แต่อย่างใด ความรับผิดชอบในองค์ประกอบทั้งหมดของบทความแต่ละเรื่องเป็นของผู้เขียนแต่ละท่าน หากมีความผิดพลาดใด ๆ ผู้เขียนบทความแต่ละท่านจะรับผิดชอบบทความของตนเอง ตลอดจนความรับผิดชอบด้านเนื้อหาและการตรวจร่างบทความเป็นของผู้เขียน ไม่เกี่ยวข้องกับกองบรรณาธิการ

นโยบายจริยธรรมการทดลอง (Research Integrity Policy)
บทความจากงานวิจัยที่ส่งเข้ามารับการตีพิมพ์และเกี่ยวข้องกับการทำวิจัยในมนุษย์ ต้องได้รับการอนุมัติจากคณะกรรมการพิจารณาจริยธรรมการวิจัยในคน และเป็นไปตามมาตรฐานจริยธรรมและกฎหมายสากล สำหรับการทดลองในสัตว์ทดลองต้องผ่านการรับรองจากคณะกรรมการพิจารณาจรรยาบรรณการใช้สัตว์เพื่องานทางวิทยาศาสตร์ เช่นกัน

วารสารฯ หวังให้ผู้เขียนเคารพสิทธิ์ความเป็นส่วนตัว (privacy) ของผู้เข้าร่วมการวิจัย และได้รับความยินยอมที่จะนำข้อมูลมาเผยแพร่ก่อนที่จะส่งบทความมายังวารสารฯ

สำหรับข้อมูลและเอกสารต่าง ๆ ผู้เขียนจะต้องส่งหลักฐาน แนบมาพร้อมกับบทความ หรือส่งมาภายหลังเมื่อบทความได้รับการรับพิจารณาตีพิมพ์และกองบรรณาธิการร้องขอไป โดยจัดส่งเป็นไฟล์หลักฐานผ่านระบบวารสารออนไลน์

นโยบายการจัดการผลประโยชน์ทับซ้อน (Conflict of Interest/Competing Interest Policy)
วารสารมีนโยบายที่จะหลีกเลี่ยงต่อการขัดกันของผลประโยชน์ ในกลุ่มกองบรรณาธิการ ผู้ทรงคุณวุฒิพิจารณาบทความ ผู้เขียนทุกท่าน เพื่อให้การตีพิมพ์บทความมีความโปร่งใสทางวิชาการ ดังนั้นในกรณีที่ ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งมีความเกี่ยวข้องทั้งทางตรงและทางอ้อมต่อบทความ ผู้เขียนหลักต้องแจ้งให้กับบรรณาธิการทราบถึงเหตุความสัมพันธ์ดังกล่าว อย่างเป็นลายลักษณ์อักษร หรือผ่านทางการส่งข้อความผ่านระบบเว็บไซต์วารสาร

สำหรับผู้เขียน ต้องมีการใช้ข้อมูลในการเขียนงานวิจัยหรือบทความปริทัศน์ โดยไม่มีส่วนที่อาจทำให้เกิดความโน้มเอียงในงานวิจัยหรือบทความปริทัศน์ ในผลการศึกษา สรุปผล หรือ การอภิปรายผล  โดยเฉพาะผลประโยชน์ทางตรงหรือทางอ้อมต่อการทำงานวิจัย

สำหรับผู้ทรงคุณวุฒิพิจารณาบทความ ควรให้ข้อมูลต่อบรรณาธิการผู้รับผิดชอบบทความ หากคาดว่ามีผลประโยชน์เกี่ยวข้องกับงานวิจัยอย่างใดอย่างหนึ่ง ให้แจ้งบรรณาธิการ เพื่อยืนยันความโปร่งใสต่อการประเมินบทความ ทั้งนี้การเกี่ยวข้องย่อมมีโอกาสเกิดขึ้นได้เสมอ บรรณาธิการจะเป็นผู้พิจารณาให้ความเห็นในการยอมรับต่อการประเมินบทความอีกครั้ง