ประสิทธิผลของการใช้ตารางปรับขนาดยา norepinephrine และการเกิดอาการไม่พึงประสงค์จากการบริหารยา norepinephrine

ผู้แต่ง

  • ชาตรี ปันอิน กลุ่มงานเภสัชกรรม โรงพยาบาลพระพุทธบาท จังหวัดสระบุรี

คำสำคัญ:

norepinephrine, noradrenaline, infusion guide

บทคัดย่อ

ที่มาของปัญหา: Norepinephrine (NE) เป็นยา high alert drug ที่มีปริมาณการใช้และมูลค่าการใช้สูงในโรงพยาบาลพระพุทธบาท พบการใช้ยาและการปรับขนาดยา NE ของแต่ละหอผู้ป่วยมีความแตกต่างกัน โดยทั้งหมดเป็นการใช้ยาความเข้มข้นในระดับสูง คือ 40 ไมโครกรัมต่อมิลลิลิตร มีเพียงร้อยละ 7.65 ของคำสั่งใช้ยาที่มีการระบุขนาดยาเริ่มต้น (ไมโครกรัมต่อกิโลกรัมต่อนาที หรือ มิลลิลิตรต่อชั่วโมง) เนื่องจากไม่มีแนวทางของคำสั่งใช้ยาที่ชัดเจน จึงส่งผลให้การใช้ขนาดยาไม่เหมาะสมและแตกต่างกัน โดยพบรายงานอุบัติการณ์การเกิดหลอดเลือดดำส่วนปลายอักเสบ (phlebitis) เฉลี่ยร้อยละ 5.73
วัตถุประสงค์: เพื่อศึกษาประสิทธิผลของการใช้ตารางปรับขนาดยา NE เป็นแนวทางในทางเวชปฏิบัติและการเกิดอาการไม่พึงประสงค์ที่สัมพันธ์กับการบริหารยา NE
วิธีวิจัย: การศึกษาแบบกึ่งทดลอง เก็บข้อมูลไปข้างหน้าในผู้ป่วยที่ได้รับยา NE ในโรงพยาบาลพระพุทธบาทระหว่างวันที่ 1 มีนาคม 2560 ถึงวันที่ 31 พฤษภาคม 2560 วิเคราะห์ผลโดยใช้สถิติเชิงพรรณนาและ Z-test for proportions
ผลการวิจัย: ในช่วงเวลาที่ศึกษา พบคำสั่งใช้ยา NE ทั้งหมดในผู้ป่วยจำนวน 187 ราย โดยมีสัดส่วนการใช้ยาร้อยละ 92.51 ในหอผู้ป่วยอายุรกรรม หอผู้ป่วยกึ่งวิกฤตและหอผู้ป่วยวิกฤต คำสั่งใช้ยาของแพทย์มีการระบุให้ใช้ยาตามแนวทางร้อยละ 76.47 ผู้ป่วยได้รับการปรับขนาดยาตามแนวทางคำสั่งใช้ยา โดยร้อยละ 80.74 ใช้ความเข้มข้นมาตรฐาน คือ 32 ไมโครกรัมต่อมิลลิลิตร และร้อยละ 19.26 ใช้ความเข้มข้น 40 ไมโครกรัมต่อมิลลิลิตร พบรายงานการเกิดหลอดเลือดดำส่วนปลายอักเสบจากการบริหารยา NE ร้อยละ 1.6 ลดลงอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติเมื่อเทียบกับก่อนใช้ตารางปรับขนาดยา (p-value = 0.03) ข้อมูลจากแบบสอบถามพยาบาลจำนวน 65 คน พบว่าทุกคนทราบและปฏิบัติตามแนวทาง โดยมีความพึงพอใจต่อการใช้ตารางปรับขนาดยา NE ในระดับมากร้อยละ 32 และระดับมากที่สุดร้อยละ 68
สรุปผล: การใช้ตารางปรับขนาดยา NE ช่วยให้การสั่งใช้ยา/ปรับขนาดยาเป็นไปในแนวทางเดียวกัน ง่ายต่อการปฏิบัติ ผู้ปฏิบัติมีความพึงพอใจและช่วยลดอุบัติการณ์หลอดเลือดดำส่วนปลายอักเสบได้

Author Biography

ชาตรี ปันอิน, กลุ่มงานเภสัชกรรม โรงพยาบาลพระพุทธบาท จังหวัดสระบุรี

ภ.บ. (บริบาลเภสัชกรรม)

Downloads

เผยแพร่แล้ว

09-11-2020