ผลของโปรแกรมการให้ความรู้ ต่อระดับความรู้และทัศนคติ ในสตรีที่มีผลการตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูกปกติ
Keywords:
โปรแกรมการให้ความรู้, ความรู้และทัศนคติ, มะเร็งปากมดลูก, learning programme, awareness and attitudes, cervical cancerAbstract
วัตถุประสงค์ของการวิจัย เพื่อศึกษาเปรียบเทียบระดับความรู้ และทัศนคติเกี่ยวกับโรคมะเร็งปากมดลูก ก่อนและหลังการใช้โปรแกรมการให้ความรู้การออกแบบวิจัย การวิจัยเชิงทดลอง ชนิดกลุ่มเดียววัดก่อนและหลังการดำเนินการวิจัย กลุ่มตัวอย่างได้แก่ สตรีไทยอายุ 26-65 ปี ที่มารับการตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูก ในโครงการป้องกันและเฝ้าระวังมะเร็งปากมดลูกแนวใหม่โรงพยาบาลจุฬาภรณ์ ระหว่างเดือนกันยายน ถึงเดือนตุลาคม 2555 ที่มีผลการตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูกปกติ จำนวน 50 ราย โปรแกรมการให้ความรู้ประกอบด้วย 1) การประเมินความรู้ และทัศนคติ 2) การให้ความรู้ร่วมกับการใช้สื่อการสอน 3) การกระตุ้นให้เกิดการรับรู้ความรุนแรงและโอกาสเสี่ยงของโรค 4) การเสริมสร้างความคาดหวัง และการสร้างความตั้งใจต่อการมีพฤติกรรมในการป้องกันโรคร่วมกับการแจ้งผลตรวจ และ 5) การกระตุ้นเตือนต่อการมีพฤติกรรมที่ถูกต้อง เครื่องมือเก็บรวบรวมข้อมูล ได้แก่ แบบสอบถามความรู้และแบบสอบถามทัศนคติเกี่ยวกับโรคมะเร็งปากมดลูก การวิเคราะห์ข้อมูลใช้สถิติร้อยละ ค่าเฉลี่ยส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน Mc Nemar test และ Paired t-testผลการวิจัย: หลังเข้าร่วมโปรแกรมกลุ่มตัวอย่างมีระดับความรู้และมีทัศนคติต่อโรคมะเร็งปากมดลูกสูงขึ้น อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (p < 0.05)
ข้อเสนอแนะ: พยาบาลสามารถนำโปรแกรมการให้ความรู้ดังกล่าว มาใช้ในสตรีที่มีผลตรวจปกติ เพื่อช่วยเพิ่มระดับความรู้และส่งเสริมให้มีทัศนคติที่ดี อันเป็นบทบาทโดยตรงของพยาบาลวิชาชีพ
คำสำคัญ: โปรแกรมการให้ความรู้ ความรู้และทัศนคติ มะเร็งปากมดลูก