ปัจจัยทำนายพฤติกรรมการดูแลตนเองของผู้ป่วยกระดูกสันหลังเสื่อมที่ได้รับการผ่าตัดกระดูกสันหลังระดับเอว
Keywords:
ผู้ป่วยกระดูกสันหลังเสื่อม การผ่าตัดกระดูกสันหลังระดับเอว การรับรู้ภาวะสุขภาพ ความรู้สึกมีคุณค่าในตนเอง พฤติกรรมการดูแลตนเองAbstract
วัตถุประสงค์ของการวิจัย: ศึกษาปัจจัยทำนายพฤติกรรมการดูแลตนเองของผู้ป่วยกระดูกสันหลังเสื่อมโดยใช้ทฤษฎีการดูแลตนเองของโอเรม (Orem) เป็นกรอบแนวคิดของการวิจัย
การออกแบบวิจัย: การวิจัยความสัมพันธ์เชิงการทำนาย
การดำเนินการวิจัย: กลุ่มตัวอย่างเป็นผู้ป่วยกระดูกสันหลังเสื่อมที่ได้รับการผ่าตัดกระดูกสันหลังระดับเอว จำนวน 86 ราย เครื่องมือวิจัยมี 4 ชุด ได้แก่ 1) แบบสอบถามข้อมูลส่วนบุคคล ความเจ็บป่วยและการรักษาที่ได้รับ 2) แบบสอบถามการรับรู้ภาวะสุขภาพ 3) แบบสอบถามความรู้สึกมีคุณค่าในตนเอง 4) แบบสอบถามพฤติกรรมการดูแลตนเอง การเก็บรวบรวมข้อมูลโดยให้กลุ่มตัวอย่างตอบแบบสอบถามด้วยตนเอง การวิเคราะห์ข้อมูลเป็นการวิเคราะห์ความถดถอยเชิงพหุ
ผลการวิจัย: กลุ่มตัวอย่างมีอายุระหว่าง 35-80 ปี อายุเฉลี่ยคือ 59.22 ปี (S.D. = 8.87) อาชีพเกษตรกรรม ร้อยละ 32.6 จบชั้นประถมศึกษา ร้อยละ 67.4 หลังผ่าตัดกลุ่มตัวอย่างรับรู้ภาวะสุขภาพอยู่ในระดับมาก (ร้อยละ 68.6) ความรู้สึกมีคุณค่าในตนเองอยู่ในระดับมาก (ร้อยละ 91.9) พฤติกรรมการดูแลตนเองอยู่ในระดับมาก (ร้อยละ 97.7) ความรู้สึกมีคุณค่าในตนเองสามารถทำนายพฤติกรรมการดูแลตนเองได้อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (Beta = .31, t = 2.24, p < .05) ส่วนปัจจัยด้านอายุ ระดับการศึกษา การรับรู้ภาวะสุขภาพไม่สามารถทำนายพฤติกรรมการดูแลตนเองได้
ข้อเสนอแนะ: ควรมีการพัฒนาโปรแกรมการส่งเสริมความรู้สึกมีคุณค่าในตนเองเพื่อส่งเสริมพฤติกรรมการดูแลตนเองของผู้ป่วยกลุ่มนี้