ประสบการณ์ของผู้ดูแลหลักมุสลิมในการดูแลผู้ป่วยวิกฤตระยะสุดท้าย ที่ได้รับการรักษาในไอซียู
Keywords:
ประสบการณ์ ผู้ดูแลหลักมุสลิม ผู้ป่วยวิกฤต ระยะสุดท้ายของชีวิต ไอซียูexperience, Muslim primary caregiver, critically ill patient, end of life, ICUAbstract
วัตถุประสงค์ของการวิจัย: เพื่อบรรยายและอธิบายประสบการณ์ของผู้ดูแลหลักมุสลิมในการดูแลผู้ป่วยวิกฤตระยะสุดท้ายในหอผู้ป่วยไอซียู
การออกแบบวิจัย: การวิจัยเชิงปรากฏการณ์วิทยาแบบเฮอร์เมนิวติกซ์
การดำเนินการวิจัย: ผู้ให้ข้อมูลเป็นผู้ดูแลหลักมุสลิมที่มีประสบการณ์ในการดูแลผู้ป่วยวิกฤตระยะสุดท้ายและได้เสียชีวิตในไอซียู ในโรงพยาบาลแห่งหนึ่งในภาคใต้ของประเทศไทย จำนวน 8 ราย เก็บรวบรวมข้อมูลโดยการสัมภาษณ์แบบเจาะลึกรายบุคคล วิเคราะห์ข้อมูลโดยใช้วิธีการของแวน มาเนน สร้างความน่าเชื่อถือของงานวิจัยโดยใช้เกณฑ์ของลินคอล์นและกูบา ประกอบด้วยการเขียนบันทึกสะท้อนคิด การตรวจสอบข้อมูลกับผู้ให้ข้อมูลและการตรวจสอบผลการวิเคราะห์ข้อมูลระหว่างทีมวิจัย
ผลการวิจัย: พบว่าความหมายของประสบการณ์ในการดูแลผู้ป่วยวิกฤตระยะสุดท้ายมี 5 กลุ่ม คือ 1) การเชื่อมต่อกับพระเจ้าด้วยความศรัทธา 2) การอยู่ท่ามกลางความทุกข์ใจ 3) การอยู่กับความกลัว 4) การทุ่มเทแรงกายแรงใจจนเหนื่อยล้า และ5) การอยู่อย่างมีความหวัง
ข้อเสนอแนะ: ผลการศึกษาสามารถใช้เป็นแนวทางในการพยาบาลผู้ดูแลหลักมุสลิมที่ร่วมดูแลผู้ป่วยวิกฤตระยะสุดท้ายให้สอดคล้องกับความต้องการและความเชื่อ และสามารถนำมาใช้พัฒนาการพยาบาลแบบองค์รวมในระยะสุดท้ายบนพื้นฐานการดูแลทางวัฒนธรรม