บทบาทพยาบาลกับการดูแลผู้ป่วยเด็กโรคหัวใจชนิดเขียวที่มีภาวะหมดสติจากสมองขาดออกซิเจน
Keywords:
การดูแล ภาวะหมดสติจากสมองขาดออกซิเจน เด็กโรคหัวใจพิการแต่กำเนิดชนิดเขียว บทบาทพยาบาล care, anoxic spells, young cyanotic congenital heart disease patients, nurses’ roleAbstract
ภาวะหมดสติจากสมองขาดออกซิเจน หรือ ภาวะหมดสติในเด็กโรคหัวใจชนิดเขียว (anoxic spells) เป็นภาวะแทรกซ้อนซึ่งเป็นอันตรายถึงชีวิตหากเด็กไม่ได้รับการรักษาที่ถูกต้องและรวดเร็วเนื่องจากร่างกายมีระดับออกซิเจนในเลือดลดลงอย่างรุนแรง เป็นกลุ่มอาการที่พบได้บ่อยในเด็กโรคหัวใจชนิดเขียวที่มีเลือดไปปอดน้อย เป้าหมายสำคัญของการดูแลเด็กในระยะก่อนผ่าตัด คือ การป้องกันไม่ให้เกิดภาวะหมดสติและการช่วยเหลือเมื่อเกิดอาการอย่างรวดเร็วและถูกต้อง การดูแลเด็กกลุ่มนี้จึงต้องการความร่วมมือจากครอบครัวเพื่อช่วยให้เด็กปลอดภัย มีสุขภาพแข็งแรงและได้รับการดูแลรักษาอย่างต่อเนื่องจนกว่าจะได้รับการผ่าตัดในเวลาที่เหมาะสม ขณะเดียวกันการดูแลเด็กในระยะนี้เป็นเรื่องที่ยากและซับซ้อนสำหรับครอบครัวและส่งผลกระทบต่อครอบครัวทั้งร่างก่าย จิตใจ สังคมและเศรษฐกิจ บทบาทสำคัญของพยาบาลจึงเป็นการให้คำแนะนำแก่บิดามารดาในการดูแลบุตรขณะอยู่ที่บ้านอย่างมีประสิทธิภาพ โดยเฉพาะ การสังเกตอาการที่ผิดปกติ และการช่วยเหลือเบื้องต้นก่อนพามาโรงพยาบาล เมื่อเด็กต้องเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาล พยาบาลมีบทบาทในการดูแลเพื่อให้เด็กหายและปลอดภัยจากภาวะคุกคามของโรค รวมทั้งให้การดูแลด้านจิตสังคมของครอบครัว พยาบาลผู้ดูแลผู้ป่วยเด็กโรคหัวใจจะสามารถเข้าใจและมองปัญหาของผู้ป่วยและครอบครัวได้อย่างลึกซึ้ง จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องเข้าใจพยาธิสรีรวิทยาและการไหลเวียนเลือดของโรคหัวใจชนิดเขียวและการดูแลเมื่อเกิดภาวะแทรกซ้อนเป็นอย่างดีเพื่อนำไปสู่การพยาบาลผู้ป่วยเด็กโรคหัวใจพิการแต่กำเนิดอย่างเป็นองค์รวมโดยมีครอบครัวเป็นศูนย์กลาง