ทัศนคติของพยาบาลในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ในการชันสูตรพลิกศพทางนิติเวช
Keywords:
ทัศนคติของพยาบาล การชันสูตรพลิกศพนิติเวช การพิสูจน์ศพAbstract
วัตถุประสงค์: ศึกษาความคิดเห็น ปัญหา และแนวทางแก้ไขที่เหมาะสมสำหรับพยาบาลในการชันสูตรพลิกศพทางนิติเวชในสถานที่เกิดเหตุร่วมกับพนักงานสอบสวน
การออกแบบวิจัย: การวิจัยเชิงสำรวจ
การดำเนินการวิจัย: กลุ่มตัวอย่าง คือ พยาบาลที่ปฏิบัติงานในโรงพยาบาล ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ที่เข้ารับการอบรมทางวิชาการของภาควิชานิติเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น จำนวน 84 คน เครื่องมือวิจัย เป็นแบบสอบถามที่ผู้วิจัยสร้างขึ้น การเก็บรวบรวมข้อมูล โดยให้กลุ่มตัวอย่างตอบแบบสอบถามด้วยตนเอง ในระหว่างเข้าอบรมวิชาการฯ การวิเคราะห์ข้อมูล ใช้สถิติหาค่า ความถี่และร้อยละ
ผลการวิจัย: พยาบาลที่เคยออกไปชันสูตรพลิกศพในสถานที่เกิดเหตุ พบ ร้อยละ 33.3 การตายผิดธรรมชาติที่ต้องชันสูตรพลิกศพ เกิดจากการตายโดยไม่ทราบสาเหตุมากที่สุด ร้อยละ 35.7 ความรู้สึกมั่นใจของพยาบาลในผลการชันสูตรพลิกศพมากที่สุดคือ การตายจากอุบัติเหตุ ร้อยละ 85.6 เรื่องที่พยาบาลเห็นด้วยมากที่สุด คือ การกำหนดค่าตอบแทนให้พยาบาลที่ต้องออกไปชันสูตรพลิกศพแทนแพทย์ ร้อยละ 83.3 เรื่องที่พยาบาลไม่เห็นด้วยมากที่สุด คือ พยาบาลแผนกฉุกเฉินเป็นผู้รับผิดชอบในการชันสูตรพลิกศพในสถานที่เกิดเหตุ ร้อยละ 46.4 แนวทางแก้ไขเมื่อเกิดปัญหานั้น พยาบาลเลือกวิธีการปรึกษาแพทย์มากที่สุด ร้อยละ 90.5
ข้อเสนอแนะ: งานด้านนี้น่าจะเป็นภารกิจที่ไม่เหมาะสมกับพยาบาล และสมควรได้รับการแก้ไขกฎหมายโดยกำหนดให้เฉพาะแพทย์เท่านั้นเป็นผู้รับผิดชอบหน้าที่นี้โดยตรง