ความสัมพันธ์ระหว่างภาวะโรคร่วม ความแข็งแรงของกล้ามเนื้อในการกำมือ และความวิตกกังวล กับการฟื้นตัวด้านการทำหน้าที่ของผู้ป่วยกระดูกสะโพกหักภายหลังผ่าตัด
Keywords:
คำสำคัญ, การฟื้นตัวด้านการทำหน้าที่/ ภาวะโรคร่วม/ ความแข็งแรงของกล้ามเนื้อในการกำ มือ/ ความวิตกกังวล/ ผู้ป่วยกระดูกสะโพกหัก Keywords, anxiety / co-morbidities / functional recovery / grip strength / patients with a hip fractureAbstract
บทคัดย่อ : วัตถุประสงค์: เพื่อศึกษาความสัมพันธ์ระหว่างภาวะโรคร่วม ความแข็งแรงของ
กล้ามเนื้อในการกำมือ และความวิตกกังวลกับการฟื้นตัวด้านการทำหน้าที่ของผู้ป่วยกระดูก
สะโพกหักภายหลังผ่าตัด
การออกแบบวิจัย: การวิจัยเชิงความสัมพันธ์
การดำเนินการวิจัย: การวิจัยนี้ใช้ทฤษฎีการเปลี่ยนผ่านเป็นกรอบแนวคิดการวิจัย กลุ่มตัวอย่างเป็นผู้ป่วยกระดูกสะโพกหักจากอุบัติเหตุ ที่ได้รับการรักษาโดยการผ่าตัด จำนวน 91 ราย จากโรงพยาบาลระดับตติยภูมิ 3 แห่ง เขตกรุงเทพฯ เก็บรวบรวมข้อมูลโดยใช้แบบประเมินการฟื้นตัวหลังผ่าตัด แบบประเมินโรคร่วมของการเจ็บป่วย แบบบันทึกและเครื่องวัดความแข็งแรงของกล้ามเนื้อในการกำมือ และแบบประเมินความวิตกกังวลขณะเผชิญ วิเคราะห์ข้อมูลด้วยสถิติพรรณนาและสัมประสิทธิ์สหสัมพันธ์ของสเปียร์แมน
ผลการวิจัย: ความแข็งแรงของกล้ามเนื้อในการกำมือมีความสัมพันธ์เชิงบวกและ ความวิตกกังวลมีความสัมพันธ์เชิงลบกับการฟื้นตัวด้านการทำหน้าที่ของผู้ป่วยอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (r = .57, r = - .62, p < .01) ภาวะโรคร่วมไม่มีความสัมพันธ์กับการฟื้นตัวด้านการทำหน้าที่ของผู้ป่วย (r = - .06, p > .05)
ข้อเสนอแนะ: พยาบาลมีบทบาทอิสระในการส่งเสริมความแข็งแรงของกล้ามเนื้อในการกำมือ กระตุ้นการฟื้นตัว ประเมินและหาสาเหตุของความวิตกกังวล พร้อมให้คำปรึกษาและวางแผนร่วมกับผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทางเพื่อคลายความกังวล