โปรแกรมส่งเสริมการเคลื่อนไหวแบบมุ่งเป้าหมายต่อผลลัพธ์ด้านกล้ามเนื้อ กระดูกและข้อต่อในผู้ป่วยบาดเจ็บที่มีข้อจำกัดการเคลื่อนไหว: การศึกษานำร่อง
Keywords:
คำสำคัญ, โปรแกรมส่งเสริมการเคลื่อนไหวแบบมุ่งเป้าหมาย ผลลัพธ์ทางกล้ามเนื้อกระดูกและข้อ ผู้ป่วยบาดเจ็บที่มีข้อจำกัดการเคลื่อนไหวKeywords, Goal Attained Mobility Promoting Program, Musculoskeletal Outcomes, Traumatic Patients ImmobilizationAbstract
บทคัดย่อ:
วัตถุประสงค์การวิจัย: เพื่อทดสอบความเป็นไปได้ของโปรแกรมส่งเสริมการเคลื่อนไหวแบบมุ่งเป้าหมายต่อผลลัพธ์ด้านกล้ามเนื้อ กระดูกและข้อต่อ
การออกแบบวิจัย: การศึกษานำร่อง
วิธีดำเนินการวิจัย: มี 2 ขั้นตอน คือ (1) พัฒนาโปรแกรมส่งเสริมการเคลื่อนไหวแบบมุ่งเป้าหมาย โดยนำวิธีการส่งเสริมการเคลื่อนไหวในผู้ป่วยบาดเจ็บที่มีข้อจำกัดการเคลื่อนไหวที่ได้จากหลักฐานเชิงประจักษ์มาประยุกต์ร่วมกับทฤษฎีการบรรลุเป้าหมายของคิง พร้อมทั้งทดสอบความตรงของเนื้อหา (2) นำโปรแกรมส่งเสริมการเคลื่อนไหวแบบมุ่งเป้าหมายไปทดลองใช้กับผู้ป่วยบาดเจ็บที่มีข้อจำกัดการเคลื่อนไหว จำนวน
3 ราย โดยให้ผู้ป่วยออกกำลังกายเพื่อเพิ่มช่วงการเคลื่อนไหวของข้อต่อและหดเกร็งกล้ามเนื้อ วันละ 2 รอบ เช้า-เย็น ท่าละ 10 ครั้ง ในวันแรก และค่อยปรับเพิ่มจำนวนครั้งในแต่ละท่าขึ้นตามความสามารถของผู้ป่วย เป็นระยะเวลาติดต่อกัน 15 วัน
ผลการวิจัย: พบว่า ผลลัพธ์ด้านกระบวนการสามารถดำเนินการได้จริง และมีความเหมาะสมกับการนำไปใช้ แต่ได้มีการปรับเนื้อหาในโปรแกรมให้มีความกระชับและเข้าใจง่าย ส่วนผลลัพธ์ด้านผู้ป่วย พบว่าผู้ป่วยมีความสามารถเคลื่อนไหวข้อ มีความทนทานและความสามารถในการทำกิจกรรมเพิ่มขึ้นทุกวัน โดยมีจำนวนครั้งในการออกกำลังกายแต่ละท่าเพิ่มขึ้นในแต่ละวันโดยไม่มีอาการแทรกซ้อน ความแข็งแรงของกล้ามเนื้อไม่ลดลง สามารถลุกนั่ง และเดินได้ อีกทั้งมีความพึงพอใจต่อการเข้าร่วมโปรแกรมโดยรวม คิดเป็นร้อยละ 93.13
สรุปผลการวิจัย: โปรแกรมส่งเสริมการเคลื่อนไหวแบบมุ่งเป้าหมายมีประโยชน์ต่อการนำไปใช้ในการส่งเสริมให้ผู้ป่วยมีการออกกำลังกายที่ต่อเนื่อง สม่ำเสมอ เพื่อป้องกันการเกิดภาวะกล้ามเนื้ออ่อนแรง และข้อติดแข็งจากการมีข้อจำกัดการเคลื่อนไหวในผู้ป่วยบาดเจ็บ อย่างไรก็ตาม ยังต้องการการศึกษาต่อเพื่อประเมินประสิทธิผลของโปรแกรมต่อเนื่อง