ประสิทธิผลของการใช้แนวปฏิบัติทางคลินิกสำหรับป้องกันภาวะความดันโลหิตต่ำ ในผู้ป่วยผู้ใหญ่ที่ได้รับยาระงับความรู้สึกทางช่องไขสันหลัง โรงพยาบาลมหาราชนครเชียงใหม่
Keywords:
คำสำคัญ, แนวปฏิบัติทางคลินิก การป้องกันภาวะความดันโลหิตต่ำ การให้ยาระงับความรู้สึกทางช่องไขสันหลัง การปฏิบัติตามหลักฐานเชิงประจักษ์ Keywords, clinical practice guidelines, prevention of hypotension, spinal anesthesia, evidence-based practiceAbstract
บทคัดย่อ:
วัตถุประสงค์ของการวิจัย: ศึกษาประสิทธิผลของการใช้แนวปฏิบัติทางคลินิกสำหรับป้องกันภาวะความดันโลหิตต่ำในผู้ป่วยผู้ใหญ่ที่ได้รับยาระงับความรู้สึกทางช่อง ไขสันหลัง
การออกแบบวิจัย: การวิจัยเชิงปฏิบัติการ (Operational research)
วิธีดำเนินการวิจัย: กลุ่มตัวอย่างประกอบด้วยผู้ป่วยที่ได้รับยาระงับความรู้สึกทางช่องไขสันหลังก่อนมีการใช้แนวปฏิบัติทางคลินิก จำนวน 51 คน และกลุ่มตัวอย่างที่มีการใช้แนวปฏิบัติทางคลินิก จำนวน 52 คน เครื่องมือที่ใช้ในการศึกษาประกอบด้วย 1) แนวปฏิบัติทางคลินิกสำหรับป้องกันภาวะความดันโลหิตต่ำในผู้ป่วยผู้ใหญ่ที่ได้รับยาระงับความรู้สึกทางช่องไขสันหลัง โรงพยาบาลมหาราชนครเชียงใหม่ ของ เกศกนก ศรีวิทะ และคณะ และ 2) แบบรวบรวมผลลัพธ์ ประกอบด้วย อัตราการเกิดภาวะความดันโลหิตต่ำ อัตราและปริมาณการใช้ยาเอฟิดริน ดำเนินการศึกษาโดยอิงกรอบแนวคิดของการใช้แนวปฏิบัติทางคลินิกของสภาวิจัยทางการแพทย์และสุขภาพแห่งชาติประเทศออสเตรเลีย วิเคราะห์ข้อมูลโดยใช้สถิติเชิงบรรยาย
ผลการวิจัย: พบอัตราการเกิดภาวะความดันโลหิตต่ำในห้องผ่าตัดและในห้องพักฟื้นในกลุ่มตัวอย่างก่อนมีการใช้แนวปฏิบัติทางคลินิกร้อยละ 70.59 และ 7.84 ตามลำดับ ในขณะกลุ่มตัวอย่างที่มีการใช้แนวปฏิบัติทางคลินิกพบเพียงร้อยละ 26.92 และ 3.85 ตามลำดับ มีอัตราการใช้ยาเอฟิดรินในกลุ่มตัวอย่างก่อนมีการใช้แนวปฏิบัติทางคลินิกร้อยละ 50.98 ในขณะกลุ่มตัวอย่างที่มีการใช้แนวปฏิบัติทางคลินิกมีการใช้เพียงร้อยละ 40.38 ค่ามัธยฐานปริมาณการใช้ยาเอฟิดรินในกลุ่มตัวอย่างก่อนมีการใช้แนวปฏิบัติทางคลินิกเท่ากับ 13.5 มิลลิกรัม และ 12 มิลลิกรัม ในกลุ่มตัวอย่างที่มีการใช้แนวปฏิบัติทางคลินิก
ข้อเสนอแนะ: ควรบูรณาการแนวปฏิบัติทางคลินิกสู่งานประจำเพื่อพัฒนาคุณภาพการบริการต่อไป