พฤติกรรมการดูแลสุขภาพแบบองค์รวมของสตรีมะเร็งเต้านมภายหลังผ่าตัด
Abstract
การวิจัยครั้งนี้มีวัตถุประสงค์ เพื่อศึกษาพฤติกรรมการดูแลสุขภาพองค์รวมของสตรีมะเร็งเต้านมภายหลังผ่าตัด กลุ่มตัวอย่างเป็นสตรีมะเร็งเต้านมภายหลังผ่าตัดที่เข้ารับการรักษา ณ แผนกผู้ป่วยนอก หน่วยรังสีรักษา และหอผู้ป่วยศัลยกรรมหญิงของโรงพยาบาลสงขลานครินทร์โรงพยาบาลหาดใหญ่ และโรงพยาบาลสงขลาระหว่างเดือนมกราคม ถึงเดือนเมษายน 2545 โดยคัดเลือกกลุ่มตัวอย่างแบบเฉพาะเจาะจงตามคุณสมบัติที่กำหนด จำนวน 200 ราย เครื่องมือวิจัยที่ใช้ประกอบด้วย แบบบันทึกข้อมูลทั่วไป และแบบสอบถามพฤติกรรมการดูแลสุขภาพแบบองค์รวมของสตรีมะเร็งเต้านมภายหลังผ่าตัด ซึ่งพัฒนามาจากการทบทวนวรรณกรรมและอาศัยกรอบแนวคิดสุขภาพแบบองค์รวม ทั้งนี้ได้ผ่านการตรวจสอบความตรงด้านเนื้อหาและหาความเที่ยงได้ค่าแอลฟา 0.89 ผลการวิจัย พบว่า พฤติกรรมการดูแลสุขภาพแบบองค์รวมของสตรีมะเร็งเต้านมภายหลังผ่าตัด โดยรวม มี ค่าเฉลี่ยในระดับปานกลาง ( X = 64.20,S.D= 8.04 ) และพฤติกรรมการดูแลในแต่ละด้านอยู่ในระดับ ปานกลาง ได้แก่ การดูแลสุขภาพด้านกาย (X = 28.17 S.D.= 4.25 ) โดยมีข้อปฏิบัติที่อยู่ในระดับสูงคือ การพักผ่อนนอนหลับให้เพียงพอกับความต้องการ ไม่ยกของหนัก และหลีกเลี่ยงการรับประทานอาหารที่มีเชื้อรา การดูแลสุขภาพด้านจิตใจ ( X = 12.73,S.D.=2.33 ) โดยมีข้อปฏิบัติที่อยู่ในระดับสูงคือ การยอมรับการสูญเสียเต้านมเพื่อพิชิตมะเร็งโดยไม่กังวลใจ การดูแลสุขภาพด้านสังคม ( X = 11.75 S.D.=2.33 ) โดยมีข้อปฏิบัติที่อยู่ในระดับสูง คือการได้รับการดูแลช่วยเหลือจากคนในครอบครัว และการดูแลสุขภาพด้านจิตวิญญาณ ( X = 14,S.D.= 1.91 ) โดยมีข้อที่อยู่ในระดับสูง คือ มีความมุ่งมั่นในการดูแลสุขภาพตนเอง
คำสำคัญ : การดูแลสุขภาพแบบองค์รวม,สตรี,การผ่าตัดเต้านม,มะเร็งเต้านม