ระดับความปวด ผลของความปวด ผลข้างเคียงของยาแก้ปวดและคุณภาพชีวิตของผู้ป่วยโรคมะเร็ง
Abstract
การวิจัยครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อการศึกษาระดับความปวด ผลของความปวดต่อการดำเนินชีวิตประจำวัน ผลข้างเคียงของยาแก้ปวดและคุณภาพชีวิตของผู้ป่วยโรคมะเร็ง กลุ่มตัวอย่างเป็นผู้ป่วยโรคมะเร็งที่มารับการรักษาที่โรงพยาบาลสังกัด มหาวิทยาลัยเป็นผู้ป่วยนอก จำนวน 97 คน เก็บรวบรวมข้อมูล โดยใช้แบบสอบถาม ซึ่งดัดแปลงจาก Brief Pain Inventory ของ Pain Research Group Department of Neurology,Medical School, University of Wisconsin-Madison วิเคราะห์ข้อมูลด้วยโปรแกรมสำเร็จรูป หาค่าร้อยละ ค่าเฉลี่ย ส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐานและทดสอบที ผลการวิจัยพบว่าการประเมินความปวดในรอบ 24 ชั่วโมง ที่ผ่านมา กลุ่มตัวอย่างเมื่อมาตรวจครั้งแรก มีความปวดมากที่สุดอยู่ในระดับปานกลาง และมีความปวดน้อยที่สุดอยู่ในระดับน้อย ความปวดโดยเฉลี่ยและความปวดขณะประเมิน อยู่ในระดับปานกลางเมื่อมาตรวจครั้งที่ 2 ประเมินระดับความปวดในรอบ 24 ชั่วโมง ที่ผ่านมามีความปวดมากที่สุด ในระดับปานกลาง และความปวดน้อยที่สุด อยู่ในระดับน้อย ความปวดโดยเฉลี่ยอยู่ในระดับปานกลางและความปวดขณะประเมินอยู่ในระดับน้อยเมื่อเปรียบเทียบค่าเฉลี่ยเป็นรายข้อระหว่างการมาตรวจครั้งแรกกับครั้งที่ 2 พบว่าเฉลี่ยความปวดมากที่สุดความปวดโดยเฉลี่ยและความปวดขณะประเมินมีความแตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ p<.01, p<.01 และ p<.05 ตามลำดับ สำหรับผลของความปวดต่อการดำเนินชีวิตประจำวันโดย รวมเมื่อมาตรวจครั้งแรกและครั้งที่ 2 อยู่ในระดับ ปานกลาง เมื่อเปรียบเทียบค่าเฉลี่ยของความปวดต่อการดำเนินชีวิตประจำวันโดยรวมระหว่างการมาตรวจครั้งแรกและครั้งที่ 2 มีความแตกต่างกันอย่างไม่มีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ p>.05 ในรายข้อ พบว่าอารมณ์ การนอนหลับ และความสุขในชีวิตประจำวันมีความแตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ p<.001,p<.01 และ p<.05 ตามลำดับ ส่วนผลข้างเคียงของยาโดยรวมเมื่อมาตรวจครั้งแรกครั้งที่ 2 อยู่ในระดับน้อย เมื่อเปรียบเทียบค่าเฉลี่ยผลข้างเคียงของยาโดยรวมระหว่างการ มาตรวจครั้งแรกและครั้งที่ 2 มีความแตกต่างกันอย่างไม่มีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ p>.05 ในรายข้อพบว่าอาการง่วงเซื่องซึม มีความแตกต่างอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ p<.001 คุณภาพชีวิตของผู้ป่วยโรคมะเร็งโดยรวม เมื่อมาตรวจครั้งแรกและครั้งที่ 2 อยู่ในระดับปานกลาง เมื่อพิจารณารายข้อพบว่าความสัมพันธ์กับครอบครัวและสังคมอยู่ในระดับดีเมื่อเปรียบเทียบค่าเฉลี่ยคุณภาพชีวิตโดยรวมและราย ข้อระหว่างการมาตรวจครั้งแรก และครั้งที่ 2 พบว่ามีความแตกต่างกันอย่างไม่มีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ p>.05
คำสำคัญ : ระดับความปวด,ผลของความปวดผลข้างเคียงของยาแก้ปวด,คุณภาพชีวิต,ผู้ป่วยมะเร็ง