การดูแลพื้นฐานการส่งเสริมสุขภาพผู้สูงอายุในชุมชนแห่งหนึ่งในจังหวัดนครศรีธรรมราช
Abstract
การศึกษาเชิงคุณภาพแบบชาติพันธุ์วรรณาทางการพยาบาลนี้มีวัตถุประสงค์เพื่ออธิบายการดูแลพื้นบ้านเพื่อการส่งเสริมสุขภาพของผู้สูงอายุกลุ่มผู้ให้ข้อมูลหลักคือ ผู้สูงอายุจำนวน 15 คน คัดเลือกแบบส่งต่อ (snow ball) ตามคุณสมบัติที่กำหนด ส่วนผู้ให้ข้อมูลทั่วไป เป็นผู้ดูแลผู้สูงอายุและบุคคลสำคัญในชุมชน คัดเลือกแบบเฉพาะเจาะจงจำนวน 15 คน ทำการเก็บรวบรวมข้อมูลตั้งแต่เดือนสิงหาคม 2546 ถึง พฤษภาคม 2547 โดยวิธีการสัมภาษณ์แบบเจาะลึก การสังเกตแบบมีส่วนร่วม การสนทนากลุ่ม การบันทึกข้อมูล ภาคสนาม การบันทึกภาพและการบันทึกเทป ทำการวิเคราะห์ข้อมูล โดยใช้วิธีการวิเคราะห์ข้อมูลแบบชาติพันธุ์วรรณทางการพยาบาลของไลนิงเกอร์ (Leininger’s ethonursing data analysis)
ผลการศึกษาพบว่า ผู้สูงอายุให้ความหมายของสุขภาพดีว่า เป็นความสมบูรณ์ของร่างกายและจิตใจ ประกอบด้วย ธาตุสมบูรณ์ ปัจจัยสมบูรณ์และลูกหลานสมบูรณ์ โดยถือว่าจิตใจและร่างกายมีความสัมพันธ์ และจิตใจเป็นตัวที่ควบคุมสภาวะอื่นๆ ส่วนการส่งเสริมสุขภาพ ผู้สูงอายุให้ความหมายว่า หมายถึง การส่งเสริมร่างกายและจิตใจให้ดีขึ้น และคงสภาพที่ดีไว้ สำหรับการดูแลพื้นบ้านผู้สูงอายุให้ความหมายว่าเป็นการดูแลกันเองใน 2 ลักษณะ คือ การดูแลกันเองโดยตนเอง บุคคลในครอบครัว และเพื่อนบ้าน และการดูแลโดยหมอแผนโบราณ ซึ่งการดูแลพื้นบ้านเพื่อการส่งเสริมสุขภาพผู้สูงอายุนั้น ประกอบด้วย 1)การบำรุงและปรับแต่งธาตุ โดยวิธีการรับประทานอาหารถูกธาตุและสมุนไพร คือ ปุ๋ยบำรุงธาตุ 2) การทำมาหากิน 3) การออกแรงออกเหงื่อ ด้วยการทำงาน การวิ่ง การเดิน และตะโม 4) การพักผ่อนให้เพียงพอ 5)การพัฒนาจิตใจ โดยการทำใจให้สงบ และร่าเริงแจ่มใส และ6) การหมั่นทำบุญ ด้วยการไปวัดไปงาน ทำทาน และการท่องเที่ยวเชิงทำบุญ
ผลการศึกษาครั้งนี้ ทำให้ได้ข้อมูลเกี่ยวกับการให้ความหมายของสุขภาพดี การส่งเสริม สุขภาพการดูแลพื้นบ้าน และการปฏิบัติการดูแลพื้นบ้านเพื่อการส่งเสริมสุขภาพของผู้สูงอายุภายใต้บริบททางสังคม วัฒนธรรมไทยของชุมชนในจังหวัดภาคใต้ ซึ่งสามารถนำไปใช้เป็นแนวทางในการจัดการบริการที่ตอบสนองความต้องการของผู้สูงอายุทั้งทางด้านร่างกาย และจิตใจและทำให้ผู้สูงอายุสามารถมีชีวิตอยู่ได้อย่างมีคุณภาพและมีความสุข
คำสำคัญ : การดูแลพื้นบ้าน,การส่งเสริมสุขภาพ,ผู้สูงอายุ,ชุมชนในจังหวัดนครศรีธรรมราช