การศึกษาภาวะสุขภาพและพฤติกรรมการส่งเสริมสุขภาพของผู้สูงอายุที่มีสุขภาพดีและมีปัญหาสุขภาพ
Abstract
การวิจัยเชิงคุณภาพชนิดปรากฏการณ์วิทยานี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อบรรยายและอภิปรายการให้
ความหมายต่อภาวะสุขภาพและพฤติกรรมการส่งเสริมสุขภาพของผู้สูงอายุที่มีสุขภาพดีและที่มีปัญหาสุขภาพ คัดเลือกผู้ให้ข้อมูลแบบเฉพาะเจาะจงจากผู้สูงอายุที่ประเมินตนเองว่ามีภาวะสุขภาพดี 10 ราย และมีปัญหาสุขภาพ 10 ซึ่งมารับบริการสุขภาพที่ศูนย์ส่งเสริมสุขภาพผู้สูงอายุแห่งหนึ่งในภาคใต้ เก็บรวบรวมข้อมูลโดยการสัมภาษณ์แบบสนทนากลุ่ม แบบเจาะลึกพร้อมบันทึกเทป การสังเกตและการบันทึกภาคสนามขณะเข้าร่วมกิจกรรมส่งเสริมสุขภาพและขณะเยี่ยมบ้าน ระหว่างเดือนมกราคม ถึงเดือนสิงหาคม 2541 ทำการวิเคราะห์ข้อมูลโดยอาศัยกระบวนวิเคราะห์ข้อมูลเชิงคุณภาพด้วยวิธีการสร้างข้อสรุปแบบอุปนัย
ผลการศึกษา พบว่า ผู้สูงอายุที่มีภาวะสุขภาพดีให้ความหมายของภาวะสุขภาพดีใน 2 ลักษณะคือ ภาวะสมดุลของร่างกายและจิตใจ ซึ่งเกิดขึ้นได้ทั้งในผู้ที่ไม่มีโรคหรือมีโรคประจำตัว และความสามารถที่จะกระทำกิจวัตรประจำวันและกิจกรรมต่างๆ ได้ด้วยตนเอง ส่วนผู้สูงอายุที่มีปัญหาสุขภาพให้ความหมายของภาวะสุขภาพดีในความหมายเดียวคือการไม่มีโภคและคิดตนเองไม่มีโอกาสจะไปถึงภาวะสุขภาพผู้สูงอายุทั้งสองกลุ่มอธิบายพฤติกรรมการส่งเสริมสุขภาพใน 4 กิจกรรม ดังนี้ 1) การออกกำลังกายและพักผ่อน โดยผู้ที่มีสุขภาพดีสามารถปฏิบัติกิจกรรมการออกกำลังกายทั้งในรูปแบบการทำงานหรือการออกกำลังกายได้อย่างสม่ำเสมอและต่อเนื่อง พอเหมาะกับสภาพร่างกาย ขณะที่ผู้สูงอายุที่มีปัญหาสุขภาพไม่สามารถปฏิบัติได้ต่อเนื่อง 2) การรับประทานอาหาร ผู้สูงอายุที่มีสุขภาพดีจะเลือกรับประทานอาหารโดยเน้นทั้งชนิดและคุณภาพของอาหาร ได้แก่ การรับประทานปลา ผัก และผลไม้เพิ่มขึ้น ขณะที่ผู้สูงอายุที่มีปัญหาสุขภาพมีข้อจำกัดในการเลือกชนิดของอาหาร เนื่องจากภาวะของโรคและจากนิสัยส่วนตัว 3) การปรับอารมณ์และจิตใจให้สมดุล ผู้สูงอายุที่มีสุขภาพดีจะมีกลวิธีในการเผชิญกับปัญหาและขจัดความเครียดได้ดีกว่าผู้สูงอายุที่มีปัญหาสุขภาพ 4) การเข้ากลุ่มร่วมทำกิจกรรมและแลกเปลี่ยนข่าวสาร ผู้สูงอายุที่มีสุขภาพดีสามารถปรับตัวเข้ากับกลุ่มเพื่อนสมาชิก เข้าร่วมกิจกรรมและแลกเปลี่ยนข่าวสารกับบุคคลอื่นได้มากกว่าผู้สูงอายุที่มีปัญหาสุขภาพ ปัจจัยที่มีผลต่อพฤติกรรมการส่งเสริมสุขภาพของผู้สูงอายุได้แก่ นิสัยและบุคลิกภาพส่วนบุคคล ระบบครอบครัวและการมีอิสระในการปรับบทบาทของตนในครอบครัว
คำสำคัญ : ผู้สูงอายุ,พฤติกรรมการส่งเสริมสุขภาพ,ภาวะสุขภาพ