ความคิดเห็นของนักศึกษาพยาบาลศาสตรมหาบัณฑิต คณะพยาบาลศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ปีการศึกษา
Abstract
การวิจัยครั้งนี้เพื่อศึกษาความคิดเห็นของนักศึกษาพยาบาลศาสตรมหาบัณฑิต ชั้นปีที่ 1 คณะพยาบาลศาสตร์ มหาวิทยามหิดล ปีการศึกษา 2541 ที่มีต่อการพยาบาลด้านจิตสังคมแก่ผู้ป่วย โดยให้นักศึกษาตอบคำถามปลายเปิด จำนวน 2 คำถาม ได้รับแบบสอบถามคืนร้อยละ 98.94 ของจำนวนนักศึกษาทั้งหมด (93 คน) นักศึกษากลุ่มนี้มีประสบการณ์ในการทำงานอยู่ในช่วงเวลา 1-23 ปี ค่าเฉลี่ยเท่ากับ 7.43 ปี คำถามแรกถามเกี่ยวกับความคิดเห็นและความรู้สึกต่อผู้ป่วยที่มีปัญหาด้านจิตสังคม พบว่า นักศึกษารู้สึกสงสารและเห็นใจผู้ป่วยร้อยละ 60.21 นักศึกษารู้สึกเข้าใจและต้องการค้นหาสาเหตุและความต้องการของผู้ป่วยร้อยละ 59.13 นักศึกษาต้องการช่วยเหลือให้กำลังใจเอาใจใส่และรับฟังผู้ป่วยร้อยละ54.83 นักศึกษารู้สึกหงุดหงิด รำคาญ ไม่พอใจ โกรธและเบื่อผู้ป่วยร้อยละ 35.48 นักศึกษารู้สึกเครียด หนักใจ ลำบากใจกับผู้ป่วยร้อยละ 7.52 และคำถามที่สองถามเกี่ยวกับความคิดเห็นและความรู้สึกในการพยาบาลด้านจิตสังคมแก่ผู้ป่วย นักศึกษาแสดงความคิดเห็นในการให้การพยาบาลด้านจิตสังคม ดังนี้ ต้องใช้ความรู้ในการทำความเข้าใจมิติต่างๆ ของผู้ป่วยมีทักษะประสบการณ์และความสามารถสูงร้อยละ 68.81 เป็นงาน ยาก ซับซ้อน และต้องอาศัยความอดทนร้อยละ 58.06 เป็นบทบาทอิสระที่มีความสำคัญของพยาบาล มีประโยชน์ต่อผู้ป่วยและครอบครัว ร้อยละ 56.98 ควรมีความจริงใจ เป็นมิตร มั่นคงทางอารมณ์ มีความละเอียดอ่อน และตระหนักในตนเองร้อยละ 35.48 เป็นงานที่ท้าทาย ทำให้เกิดความภาคภูมิใจในตนเองและวิชาชีพร้อยละ 31.18 เป็นงานที่ต้องใช้เวลาร้อยละ 16.12 ไม่มั่นใจในการให้การพยาบาลด้านจิตสังคมแก่ผู้ป่วยร้อยละ 5.31 โดยสรุปนักศึกษาพยาบาลศาสตรมหาบัณฑิตมีความคิดเห็นว่าการให้การพยาบาลด้านจิตสังคมแก่ผู้ป่วยพยาบาลต้องมีความรู้และทักษะเฉพาะ มีความสามารถและมีประสบการณ์ในการให้การพยาบาล มีความจริงใจไม่เสแสร้ง ขณะเดียวกันการให้การพยาบาลด้านจิตสังคมแก่ผู้ป่วยต้องใช้เวลาและทำให้พยาบาลรู้สึกเครียด
คำสำคัญ : การพยาบาลด้านจิตสังคม,ความเครียด นักศึกษาพยาบาล-ทัศนคติ