ปัจจัยที่มีอิทธิพลต่อการตรวจเต้านมด้วยตนเองในสตรีไทย
Abstract
มะเร็งเต้านมเป็นมะเร็งที่พบได้ในสตรีไทยเป็นอันดับ 2 และเป็นสาเหตุการตายค่อนข้างสูงอัตราการตายจากมะเร็งเต้านมลดได้ ถ้าตรวจพบโรคตั้งแต่เริ่มแรก การตรวจเต้านมด้วยตนเองเป็นวิธีที่สำคัญในการตรวจคันมะเร็งเต้านมระยะเริ่มแรก และง่ายที่จะเรียนรู้เพื่อทำเองได้แต่สตรีส่วนมากไม่ตรวจเต้านมด้วยตนเองเป็นประจำทุกเดือน การส่งเสริมให้สตรีมีพฤติกรรมการตรวจเต้านมด้วยตนเองที่ถูกต้องจำเป็นต้องมีข้อมูลเบื้องต้น ดังนั้นการวิจัยครั้งนี้ จึงมีจุดประสงค์เพื่อศึกษาปัจจัยที่มีอิทธิพลต่อการตรวจเต้านมด้วยตนเอง ในสตรี 3 กลุ่ม คือ พยาบาล โรงพยาบาลศิริราชผู้ป่วยที่มาตรวจเต้านม และผู้ป่วยที่มาตรวจโรคทั่วไปที่ตึกผู้ป่วยนอกโรงพยาบาลศิริราช กลุ่มละ 100 คน รวมเป็น 300 คน เก็บข้อมูลโดยใช้แบบสอบถาม 6 ชุด โดยการตอบเองหรือใช้สัมภาษณ์การวิเคราะห์ข้อมูลใช้สถิติร้อยละ ค่าเฉลี่ย ส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน และการวิเคราะห์เส้นทาง ผลการศึกษาพบว่า
1.ข้อมูลด้านประชากร กลุ่มที่มีจำนวนมากที่สุด คือ กลุ่ม 30-39 ปี กลุ่มสถานภาพสมรสคู่ กลุ่มการศึกษาระดับปริญญาตรี กลุ่มอาชีพพยาบาล กลุ่มที่มีรายได้ 5001-10,000 บาทต่อเดือน และกลุ่มที่ไม่เคยมีโรคของเต้านม
2.ความรู้เกี่ยวกับโรคมะเร็งเต้านมและการตรวจเต้านมด้วยตนเอง กลุ่มตัวอย่างทั้งหมด กลุ่มผู้ป่วยที่มาตรวจเต้านมและกลุ่มผู้ป่วยทั่วไป มีความรู้ อยู่ในระดับต่ำ ส่วนกลุ่มพยาบาลมีความรู้อยู่ในระดับปานกลาง
3.ความเชื่ออำนาจด้านสุขภาพ กลุ่มตัวอย่างทั้งหมด กลุ่มผู้ป่วยที่มาตรวจเต้านมและกลุ่มผู้ป่วยทั่วไปมีความเชื่ออำนาจในตนด้านสุขภาพอยู่ในระดับ “น้อย” ส่วนกลุ่มพยาบาลมีความเชื่ออำนาจในตนด้านสุขภาพอยู่ในระดับ “ปานกลาง”
4.การรับข่าวสารเกี่ยวกับการตรวจเต้านมด้วยตนเอง กลุ่มตัวอย่างทั้งหมดและกลุ่มพยาบาล รับข่าวสารอยู่ในระดับ “ค่อนข้างบ่อย” ส่วนกลุ่มผู้ป่วยที่มาตรวจเต้านมและกลุ่มผู้ป่วยทั่วไป รับข่าวสารอยู่ในระดับ “ค่อนข้างไม่บ่อย”
5.ความเชื่อด้านสุขภาพ กลุ่มตัวอย่างรับรู้ว่าตนเองเสี่ยงต่อการเกิดโรงมะเร็งเต้านมและมะเร็งเต้านมมีความรุนแรงอยู่ในระดับ “ค่อนข้างจริง” และรับรู้มีอุปสรรคในการตรวจเต้านมด้วยตนเองมีประโยชน์อยู่ในระดับ “จริง” และรับรู้มีอุปสรรคในการตรวจเต้านมด้วยตนเองอยู่ในระดับ “ไม่จริง”
6.พฤติกรรมการตรวจเต้านมด้วยตนเอง กลุ่มตัวอย่างส่วนมากมีการตรวจเต้านม (67.7%) แต่มีเพียง 17.3% ที่ตรวจเต้านมทุกเดือนและที่ไม่เคยตรวจเต้านมด้วยตนเองเลยมี 32.3%
7.ปัจจัยที่มีอิทธิพลต่อการตรวจเต้านมด้วยตนเอง ผลการศึกษายืนยันรูปแบบความเชื่อด้านสุขภาพบางส่วนโดยตัวแปรที่มีอิทธิพลโดยตรงกับการตรวจเต้านมด้วยตนเองมี การรับข่าวสาร (β
=.226, P<.01) การรับรู้อุปสรรค (β = - 148, P <.05) โรคของเต้านม (β= .138, P < .05) และการรับรู้โอกาสเสี่ยง (β = .121, P < .05)
จากผลการวิจัยขอเสนอแนะให้หน่วยงานด้านป้องกันโรคมะเร็งและบุคลากรทางการแพทย์เพิ่มพฤติกรรมการตรวจเต้านมด้วยตนเองแก่ สตรีโดยการให้ข่าวสารเพื่อเพิ่มการรับรู้โอกาสเสี่ยงให้มากขึ้นด้วยการให้ความรู้เกี่ยวกับปัจจัยเสี่ยง และลดการรับรู้อุปสรรค โดยการเพิ่มความรู้และทักษะในการตรวจเต้านมด้วยตนเอง หรือสืบค้นอุปสรรคก่อนแล้วแก้ไขอุปสรรคนั้น นอกจากนี้ควรตามด้วยการให้ข่าวสารทางสื่อมวลชนต่างๆ เป็นระยะๆ เพื่อกระตุ้นให้เกิด การตรวจเต้านมด้วยตนเองที่ถูกต้อง
คำสำคัญ : การดูแลเอง,มะเร็งเต้านม,สตรี-ไทย