ความเป็นห่วงเกี่ยวกับการคลอดและการปฏิบัติตนของสตรีตั้งครรภ์ในระยะใกล้คลอด
Abstract
การวิจัยเชิงบรรยายนี้เพื่อศึกษาความหมายของความเป็นห่วงเกี่ยวกับการคลอด มิติของความเป็นห่วง และการปฏิบัติตนเมื่อมีความเป็นห่วงเกิดขึ้นของสตรีตั้งครรภ์ในระยะใกล้คลอด กลุ่มตัวอย่างเป็นสตรีตั้งครรภ์ที่มีอายุครรภ์ 36 สัปดาห์ ขึ้นไป ที่มาฝากครรภ์ที่ห้องตรวจครรภ์โรงพยาบาลศรีนครินทร์จังหวัดขอนแก่น ตั้งแต่ 1 ครั้งขี้นไปตั้งครรภ์ปกติ ไม่มีภาวะแทรกซ้อน เก็บรวบรวมข้อมูลโดยวิธีการสนทนากลุ่ม และการสัมภาษณ์เจาะลึก วิเคราะห์ข้อมูลโดยวิธีเคราะห์เนื้อหาสตรีตั้งครรภ์ให้ความหมายของความเป็นห่วงว่าเป็นความรู้สึกรวมๆ ได้แก่ “กลัว (คิดย่าน)” “กังวล (คิดยาก)” “ห่วง” “ลุ้น” และ “อยากรู้” ต่อเหตุการณ์การคลอดที่จะเกิดขึ้น คุณลักษณะของความเป็นห่วง มี 4 ลักษณะคือ (1)การคิดในสิ่งที่ยังไม่เกิดขึ้น (2) คิดในเชิงลบและ/หรือในเชิงบวก (3) สิ่งที่เป็นห่วงสามารถระบุได้ชัดเจนและ/หรือไม่สามารถระบุได้ชัดเจน (4) ระดับของความเป็นห่วงมีความสัมพันธ์เกี่ยวข้องกับระยะเวลา สิ่งที่ส่งผลต่อความเป็นห่วงที่พบได้ชัดเจนในการศึกษานี้คือ การรับรู้ประสบการณ์การคลอด ซึ่งอาจจะได้จากประสบการณ์ของตนเอง จากบุคคลอื่นๆ และสื่อต่างๆ มิติของความเป็นห่วง แบ่งได้เป็น 4 ด้านคือ ด้านบุตร ด้านตนเอง ด้านสภาพแวดล้อมในการคลอด และด้านครอบครัว โดยสตรีตั้งครรภ์จะมีความเป็นห่วงด้านบุตรมากที่สุดความเป็นห่วงที่เกิดขึ้นมีทั้งในระยะก่อนคลอดระยะคลอด และระยะหลังคลอด สตรีตั้งครรภ์มีวิธีการปฏิบัติตนเองเพื่อลดความเป็นห่วงที่เกิดขึ้น 3 วิธี คือ การปรับความคิด การดูแลตนเองแบบผสมผสาน และการเลือกสถานที่คลอดที่พึงพอใจ
ผลการศึกษานี้ ทำให้ผู้ให้การดูแลสตรีตั้งครรภ์ได้เข้าใจความรู้สึกนึกคิดของสตรีตั้งครรภ์สามารถให้ความช่วยเหลือแก้ไขความเป็นห่วงในเชิงลบ และการปฏิบัติตนที่ไม่เหมาะสมโดยการให้คำปรึกษาแนะนำล่วงหน้าที่เหมาะสม นอกจากนี้ยังสามารถส่งเสริม ความเป็นห่วงในเชิงบวก และการปฏิบัติตนที่เหมาะสม การให้ความรู้ตามความสนใจ รวมทั้งการฝึกปฏิบัติเกี่ยวกับการคลอดจะช่วยส่งผลให้สตรีตั้งครรภ์มีความพร้อมที่จะเข้าสู่ระยะคลอดได้อย่างมั่นใจ
คำสำคัญ : การคลอด,ครรภ์,จิตกังวล,สตรี