ความสัมพันธ์ระหว่างอาการและอาการแสดงภาวะพร่องออกซิเจนค่าความอิ่มตัวของออกซิเจน และค่าความดันของออกซิเจนในเลือดแดงของผู้ป่วยอุบัติเหตุในระยะวิกฤต
Abstract
การประเมินภาวะพร่องออกซิเจน โดยทั่วไปใช้วิธีการประเมินจากอาการและอาการแสดงภาวะพร่องออกซิเจน ค่าความอิ่มตัวของออกซิเจนและค่าความดันของออกซิเจนในเลือดแดง แต่วิธีการประเมินค่าความอิ่มตัวของออกซิเจนเป็นที่นิยมกันมาก เนื่องจากสามารถวัดได้จากเครื่องตรวจวัดซึ่งมีความสะดวก รวดเร็ว และไวต่อการเปลี่ยนแปลงของระดับออกซิเจนในเลือดก่อนที่จะเกิดอาการและอาการแสดงภาวะพร่องออกซิเจน และที่สำคัญคือวิธีนี้ไม่ต้องเสี่ยงต่ออันตรายจากการเจาะเลือดในหลอดเลือดแดง เพื่อประเมินค่าความดันของออกซิเจนในเลือดแดง
การวิจัยนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาความสัมพันธ์ระหว่างอาการและอาการแสดงภาวะพร่องออกซิเจน ค่าความอิ่มตัวของออกซิเจน และค่าความดันของออกซิเจนในเลือดแดง ซึ่งศึกษาจากผู้ป่วยอุบัติเหตุในระยะวิกฤตจำนวน 400 ตัวอย่างโดยประเมินจากการผู้ป่วยทุกรายที่แพทย์สั่งเจาะเลือดเพื่อตรวจหาค่าก๊าซในเลือดแดง เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัยประกอบด้วย แบบบันทึกข้อมูลส่วนบุคคลและแบบประเมินภาวะออกซิเจนในเลือดแดง ได้แก่ อาการและอาการแสดงภาวะพร่องออกซิเจนประกอบด้วยค่าความอิ่มตัวของออกซิเจนจากเครื่องตรวจวัด และค่าความดันของออกซิเจนในเลือดแดงจากการเจาะเลือดแดง
ผลการวิจัยพบว่า อาการและอาการแสดงภาวะพร่องออกซิเจน ค่าความอิ่มตัวของออกซิเจนและค่าความดันของออกซิเจนในเลือดแดงไม่มีความสัมพันธ์กัน (P=.05) ทั้งนี้เนื่องจากมีตัวแปรแทรกซ้อนจาก อายุ ระดับความเข้มข้นของออกซิเจน อัตราการไหลของออกซิเจน และการได้รับยาช่วยคลายกล้ามเนื้อและยาแก้ปวด กระทบต่อตัวแปรที่ศึกษา
คำสำคัญ : ภาวะพร่องออกซิเจน,อุบัติเหตุ,ภาวะวิกฤต-การดูแล