ผลการพยาบาลแบบตั้งเป้าหมายร่วมกันต่อพฤติกรรมการดูแลสุขภาพของผู้ป่วยเบาหวานที่มารับบริการโรงพยาบาลบ้านโป่ง จังหวัดราชบุรี
Abstract
โรคเบาหวานมีอัตราการเกิดสูงและมีโรคแทรกซ้อนรุนแรง การควบคุมเบาหวานสามารถลดอัตราอัตราการเกิดโรคแทรกซ้อน ลดความพิการและการต้องอยู่โรงพยาบาลเนื่องจากโรคเบาหวานและโรคที่เกี่ยวข้องกับเบาหวาน ผู้ป่วยเบาหวานจึงต้องเรียนรู้ที่จะมีพฤติกรรมการดูแลสุขภาพที่ถูกต้อง เพื่อป้องกันและควบคุมภาวะแทรกซ้อนหรือความพิการที่อาจเกิดขึ้น ให้สามารถควบคุมเบาหวานได้ด้วยตนเอง ดังนั้นผู้วิจัยจึงนำรูปแบบการพยาบาลแบบตั้งเป้าหมายร่วมกันระหว่างพยาบาลและผู้ป่วยเบาหวาน โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาผลของการพยาบาลแบบตั้งเป้าหมายร่วมกันระหว่างผู้วิจัยกับผู้ป่วยต่อพฤติกรรมการดูแลสุขภาพของผู้ป่วยเบาหวาน ทำการศึกษาโดยใช้รูปแบบการวิจัยแบบกึ่งทดลอง โดยคัดเลือกกลุ่มตัวอย่างแบบเฉพาะเจาะจงตามคุณสมบัติที่กำหนดไว้ จำนวน 40 ราย แบ่งเป็นกลุ่มควบคุม 20 ราย และกลุ่มทดลอง 20 ราย กลุ่มควบคุมได้รับการพยาบาลตามปกติ ส่วนกลุ่มทดลองได้รับการพยาบาลแบบ ตั้งหมายร่วมกันระหว่างผู้วิจัยและผู้ป่วยเบาหวานที่บ้านของผู้ป่วย
ผู้วิจัยประเมินพฤติกรรมการดูแลสุขภาพก่อนและหลังได้รับการพยาบาลแบบตั้งเป้าหมายร่วมกันห่างกัน 4 สัปดาห์ทั้งในกลุ่มควบคุมและกลุ่มทดลอง การวิเคราะห์ข้อมูลใช้วิธีหาค่าร้อยละ ค่าเฉลี่ย ส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน การทดสอบค่าที และเปรียบเทียบความแตกต่างของคะแนนพฤติกรรมการดูแลสุขภาพโดยการวิเคราะห์ความแปรปรวนร่วม (ANCOVA) โดยใช้คะแนนพฤติกรรมการดูแลสุขภาพก่อนได้รับการพยาบาลเป็นตัวแปรร่วม (Covariate)
ผลการวิจัยพบว่า ผู้ป่วยเบาหวานที่ได้รับการพยาบาลแบบตั้งเป้าหมายร่วมกันระหว่างผู้วิจัยและผู้ป่วย มีพฤติกรรมการดูแลสุขภาพสูงกว่าผู้ป่วยเบาหวานที่ได้รับการพยาบาลตามปกติ อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .001
จากผลการวิจัยครั้งนี้ ผู้วิจัยมีข้อเสนอแนะว่า พยาบาลควรนำรูปแบบการพยาบาลแบบตั้งเป้าหมายร่วมกันระหว่างพยาบาลและผู้ป่วยเบาหวานมาใช้ในการพยาบาลแก่ผู้ป่วยเพื่อส่งเสริมให้มีพฤติกรรมการดูแลสุขภาพที่ถูกต้อง สามารถดำเนินชีวิตได้อย่างมีปกติสุข และมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น
คำสำคัญ : การพยาบาลแบบตั้งเป้าหมาย,การดูแลตนเอง,ผู้ป่วยเบาหวาน,พฤติกรรมสุขภาพ,โรงพยาบาลบ้านโป่ง