การติดตามผลบัณฑิตที่สำเร็จการศึกษาหลักสูตรพยาบาลศาสตรบัณฑิต (ปรับปรุง พ.ศ.2537) มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ปีการศึกษา 2540
Abstract
การวิจัยนี้เป็นการวิจัยเชิงพรรณนา มีวัตถุประสงค์เพื่อ ศึกษาติดตามความสามารถของบัณฑิตพยาบาลตามการรู้ของตนเองและผู้บังคับบัญชาเกี่ยวกับความสามารถในกระบวนการที่ได้รับการพัฒนา 5 ด้าน คือการใช้กระบวนการพยาบาลการใช้กระบวนการเรียนการสอน การใช้กระบวนการบริหาร การใช้กระบวนการศึกษาด้วยตนเองและการวิจัย และการใช้กระบวนการพัฒนาจรรยาวิชาชีพประชาการที่ศึกษามี 2 กลุ่ม คือ บัณฑิตพยาบาลที่สำเร็จการศึกษาตามหลักสูตรพยาบาลศาสตรบัณฑิต (ปรับปรุง 2537) ของคณะพยาบาลศาสตร์ มหาวิทยาสงขลานครินทร์ ประกอบด้วยนักศึกษาหลักสูตรพยาบาลศาสตร์บัณฑิตและหลักสูตรพยาบาลศาสตรบัณฑิต (ต่อเนื่อง 2 ปี) รวม 158 คน และผู้บังคับบัญชาระดับต้นของบัณฑิตพยาบาล ที่มีหน้าที่รับผิดชอบนิเทศงาน ติดตามงานประเมินผลการปฏิบัติงานของบัณฑิตในปัจจุบันรวม 145 คน เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัย ได้แก่แบบสอบถาม ประกอบด้วย 2 ส่วน คือ ส่วนที่ 1 ข้อมูลทั่วไปของผู้ตอบแบบสองถาม และส่วนที่ 2 แบบประเมินความสามารถของบัณฑิตพยาบาลตามการรับรู้ของตนเอง และตามการรับรู้ของผู้บังคับบัญชา โดยใช้โปรแกรม SPSS/PC+ วิเคราะห์ข้อมูลในด้านต่างๆ ทั้ง 5 ด้าน ด้วยสถิติ ร้อยละ ค่าเฉลี่ย ส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐานและการทดสอบค่า (t-test)
ผลการวิจัยพบว่า ความสามารถของบัณฑิตในด้านการใช้กระบวนการพยาบาล การใช้กระบวน การเรียนการสอน การใช้กระบวนการบริหาร และการใช้กระบวนการศึกษาด้วยตนเองและการวิจัย มีค่าเฉลี่ยอยู่ในระดับปานกลาง ส่วนความสามารถด้านการใช้กระบวนการพัฒนาจรรยาวิชาชีพ อยู่ในระดับสูง ทั้งตามการรับรู้ของบัณฑิตและตามการรับรู้ของผู้บังคับบัญชา เมื่อเปรียบเทียบความแตกต่างของค่าเฉลี่ยคะแนนความสามารถของบัณฑิต ตามการรับรู้ของบัณฑิตกับตามการรับรู้ของผู้บังคับบัญชา ทั้ง 5 ด้าน พบว่า มีความแตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (P< .05)
คำสำคัญ : การศึกษาทางการพยาบาล,หลักสูตพยาบาลศาสตรบัณฑิต,บัณฑิตพยาบาล,มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์