การวิเคราะห์รูปแบบองค์กรสถาบันการศึกษาสาขาพยาบาลศาสตร์ในสังกัดสถาบันพระบรมราชชนก กระทรวงสาธารณสุข

Authors

  • สายหยุด ศิริภาภรณ์

Abstract

การประกาศใช้รัฐธรรมนูญใหม่ พ.ศ.2540 การประกาศใช้พระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ.2542 และการประกาศนโยบายการปฏิรูประบบราชการการ ทำให้ทุกหน่วยงานต้องพิจารณาเพื่อปรับปรุง เปลี่ยนแปลง การจัดการศึกษาในกระทรวงสาธารณสุข แม้ว่าได้ดำเนินการมานานแล้วแต่กระทรวงสาธารณสุข แม้ว่าได้ดำเนินการมานานแล้วแต่กระทรวงสาธารณสุขมิได้มีหน้าที่โดยตรงในการจัดการศึกษา สถาบันการศึกษาพยาบาล สังกัดสถาบันพระบรมราชชนก ในกระทรวงสาธารณสุข จึงต้องทบทวนโครงสร้างและบทบาทภารกิจขององค์กรผู้วิจัยจึงทำการศึกษาวิเคราะห์รูปแบบองค์กร ของสถาบันการศึกษาสาขาพยาบาลศาสตร์ ในสังกัดสถาบันพระบรมราชชนก กระทรวงสาธารณสุข ซึ่งเป็นการวิจัยเชิงนโยบาย

การศึกษาประกอบด้วยวิธีการวิจัยเชิงคุณภาพและเชิงปริมาณ การศึกษาเชิงคุณภาพแบ่งออกเป็น 3 ขั้นตอน คือ ขั้นตอนที่ 1 การศึกษาเอกสารที่เกี่ยวข้องให้ได้รูปแบบองค์กรที่เป็นไปได้ของสถาบันการศึกษาสาขาพยาบาลศาสตร์ ในสังกัดสถาบันพระบรมราชชนก กระทรวงสาธารณสุข ขั้นตอนที่ 2 การสัมภาษณ์แบบเจาะลึกผู้ทรงคุณวุฒิในด้านกฎหมาย และผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการจัดการศึกษา รวมทั้งผู้บริหารของกระทรวงสาธารณสุขเกี่ยวกับรูปแบบที่เป็นไปได้ ขั้นตอนที่ 3 การจัดประชุมผู้บริหารสถาบันการศึกษาสาขาพยาบาลศาสตร์ทั่วประเทศ เกี่ยวกับการจัดการศึกษาสาขาพยาบาลศาสตร์ตามนโยบายการปฏิรูประบบการศึกษาแห่งชาติ

ผลการวิจัยเชิงคุณภาพ ซึ่งได้จากการวิเคราะห์เอกสาร การสัมภาษณ์แบบเจาะลึกผู้ทรงคุณวุฒิและผู้มีส่วนเกี่ยวข้องกับการจัดการศึกษาและการจัดอภิปรายร่วม ระหว่างผู้บริหารระดับนโยบายของการจัดการศึกษา คือ ทบวงมหาวิทยาลัย  กระทรวงศึกษาธิการ และกระทรวงสาธารณสุข แล้วนำรูปแบบที่มีความเป็นไปได้ตามกฎหมายให้ผู้บริหารสถาบันการศึกษาสาขาพยาบาลศาสตร์พิจารณาข้อดี ข้อจำกัด ก่อนนำเสนอและอภิปรายหาข้อสรุปเป็นมติของที่ประชุม ได้รูปแบบที่ควรจะเป็นมากที่สุดเรียงตามลำดับ คือ

1.สถาบันการศึกษาสาขาพยาบาลศาสตร์สังกัดกระทรวงสาธารณสุข ถ่ายโอนไปสังกัดมหาวิทยาลัย

2.สถาบันการศึกษาสาขาพยาบาลศาสตร์สังกัดกระทรวงสาธารณสุข รวมกลุ่มกันเสนอพระราชบัญญัติ จัดตั้งเป็นสถาบันการศึกษาระดับอุดมศึกษา สังกัดกระทรวงการศึกษา ศาสนา และวัฒนธรรม

3.คงวิทยาลัยพยาบาลบางส่วนไว้ในกระทรวงสาธารณสุข โดยปรับบทบาทให้เป็นสถาบันวิชาการทำหน้าที่พัฒนาบุคลากรประจำการของกระทรวงสาธารณสุข ส่วนวิทยาลัยที่ไม่ได้คงไว้ให้ถ่ายโอนไปสังกัดมหาวิทยาลัย หรือเสนอพระราชบัญญัติ จัดตั้งเป็นสถาบันการศึกษาอุดมศึกษา ภายใต้กระทรวงการศึกษา ศาสนา และวัฒนธรรม

ผลการวิจัยเชิงปริมาณ ที่ได้จากแบบสอบถามความคิดเห็นของอาจารย์จากวิทยาลัยพยาบาลในสังกัดพระบรมราชชนก กระทรวงสาธารณสุข พบว่ากลุ่มตัวอย่างร้อยละ 40.9 มีประสบการณ์การทำงาน 5-10 ปี ร้อยละ 32.6 มีประสบการณ์การทำงาน  11-20 ปี ร้อยละ 78.7 สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาโท กลุ่มตัวอย่างร้อยละ 51.5 มีความคิดเห็นว่าวิทยาลัยพยาบาลควรถ่ายโอนไปอยู่กับมหาวิทยาลัย ซึ่งสอดคล้องกับผลการวิจัยเชิงคุณภาพที่ให้ทางเลือกนี้เป็นลำดับที่ 1 รองลงมาร้อยละ 22.00 มีความเห็นว่าวิทยาลัยพยาบาลควรรวมกันเสนอพระราชบัญญัติจัดตั้งเป็นสถาบันการศึกษาระดับอุดมศึกษา สังกัดกระทรวงศึกษา ศาสนาและวัฒนธรรม ซึ่งสอดคล้องกับการวิจัยเชิงคุณภาพเช่นเดียวกับที่ได้เสนอทางเลือกดังกล่าวนี้ ไว้เป็นรูปแบบที่ 2 และอาจารย์อีกร้อยละ 7.91 เห็นว่าวิทยาลัยพยาบาลควรโอนย้ายไปสังกัดสถาบันราชภัฎ ซึ่งเป็นสถาบันอุดมศึกษาและอยู่ในพื้นที่อยู่แล้ว ส่วนอีกร้อยละ 6.87 ให้คงวิทยาลัยพยาบาลบางส่วนอยู่กับกระทรวงสาธารณสุข โดยปรับบทบาทเป็นสถาบันทางวิชาการที่ปฏิบัติภารกิจด้านการพัฒนาบุคลากรประจำการของกระทรวงสาธารณสุข

ผลการวิจัยครั้งนี้ ผู้วิจัยมีข้อเสนอแนะให้กระทรวงสาธารณสุขถือเป็นนโยบายในการประสานกับทบวงมหาวิทยาลัย เพื่อหาแนวทางให้มีการถ่ายโอนสถาบันการศึกษาสาขาพยาบาลศาสตร์ ไปยังมหาวิทยาลัยต่างๆ ตามความเหมาะสม ตามลักษณะทางภูมิศาสตร์ และความพร้อมของสถาบันการศึกษา และมหาวิทยาลัยต่อไป

คำสำคัญ : สถาบันการศึกษาสาขาพยาบาลศาสตร์,รูปแบบองค์กร,สถาบันพระบรมราชนก

Downloads

Download data is not yet available.

Downloads

How to Cite

1.
ศิริภาภรณ์ ส. การวิเคราะห์รูปแบบองค์กรสถาบันการศึกษาสาขาพยาบาลศาสตร์ในสังกัดสถาบันพระบรมราชชนก กระทรวงสาธารณสุข. J Thai Nurse midwife Counc [Internet]. 2012 Aug. 25 [cited 2024 Nov. 25];16(1):80. Available from: https://he02.tci-thaijo.org/index.php/TJONC/article/view/2327