ประเมินผลโครงการลดจำนวนทารกแรกเกิดน้ำหนักต่ำกว่า 2,500 กรัม สำนักงานสาธารณสุขเขต 10

Authors

  • รัชนี มิตกิตติ
  • กัญญา วัชรินทร์ยานน์
  • ชะลอศรี แดงเปี่ยม

Abstract

การวิจัยครั้งนี้เป็นการประเมินผลโครงการลดจำนวนทารกแรกเกิดน้ำหนักต่ำกว่า 2,500 กรัม ของสำนักงานสาธารณสุขเขต 10 ซึ่งทารกน้ำหนักน้อยเป็นปัญหาสาธารณสุขที่สำคัญและมีผลกระทบรุนแรงต่อทารกแรกเกิด การประเมินผลครั้งนี้ใช้แบบจำลองชิบ (CIPP Model) ของสตัฟเฟิลบีมซึ่งประกอบด้วยการประเมินบริบทหรือสภาพแวดล้อม (context) ปัจจัยนำเข้า (input) กระบวนการ (process) และผลผลิต (product) ของโครงการที่ดำเนินงานในพื้นที่ 6 จังหวัดภาคเหนือตอนบนในระหว่างปี พ.ศ.2539-2542 เก็บรวบรวมข้อมูลโดยการสัมภาษณ์เจาะลึก สนทนากลุ่ม และใช้แบบสอบถาม ผู้รับผิดชอบโครงการเขต และจังหวัดหัวหน้างาน หรือผู้รับผิดชอบงานฝากครรภ์โรงพยาบาลศูนย์/ทั่วไป ผู้รับผิดชอบงานอนามัยแม่และเด็กโรงพยาบาลชุมชนและสถานีอนามัย จำนวน 124 คน หัวหน้าฝ่ายส่งเสริมสุขภาพโรงพยาบาลชุมชนและหัวหน้าสถานีอนามัยจำนวน 112 คน หญิงตั้งครรภ์ที่มารับบริการฝากครรภ์โรงงพยาบาลศูนย์/ทั่วไป/ชุมชนและสถานีอนามัย จำนวน 232 คน วิเคราะห์ข้อมูลเชิงปริมาณ ด้วยความถี่ ค่าร้อยละ คะแนนเฉลี่ย ค่าสัดส่วน สำหรับข้อมูลเชิงคุณภาพวิเคราะห์เนื้อหา ผลการศึกษาสรุปได้ดังนี้

สภาพแวดล้อมของโครงการได้แก่ วัตถุประสงค์ เป้าหมายและพื้นที่การดำเนินงาน สายการติดตามนิเทศงาน ระบบส่งต่อของสถานบริการปัญหาในพื้นที่ นโยบายของกรมอนามัยและสาธารณสุขเขต 10 มีความสอดคล้องกับสภาพปัญหาในพื้นที่ซึ่งมีอัตราทารกแรกเกิดน้ำหนักน้อยมากกว่าร้อยละ 10 และเป้าหมายนโยบายสาธารณสุขให้ลดอัตราทารกแรกเกิดน้ำหนักต่ำกว่า 2,500 กรัมไม่เกินร้อยละ 7 สายการติดตามนิเทศงานและระบบส่งต่อมีความชัดเจนตั้งแต่ระดับสถานีอนามัย โรงพยาบาลชุมชนโรงพยาบาลศูนย์ ปัจจัยนำเข้าโครงการได้แก่ บุคลากร งบประมาณ วัสดุอุปกรณ์และเวลาพบว่าบุคลากรเข้าใจหลักการ แนวคิด และวัตถุประสงค์ของโครงการดี มีความพร้อมดำเนินงานได้รับการพัฒนาทักษะการดูแลหญิงตั้งครรภ์  หญิงคลอดและหญิงหลังคลอด แต่จำนวนบุคลากรไม่เพียงพอกับกิจกรรมให้คำปรึกษาแนะนำโภชนศึกษาแก่หญิงตั้งครรภ์ และสูติแพทย์ไม่เพียงพอในการให้คำปรึกษาผู้ปฏิบัติงานระดับอำเภอและตำบลงบประมาณใช้จ่ายในการจัดทำคู่มือและสื่อโภชนศึกษาและอบรมเพิ่มทักษะแก่เจ้าหน้าที่ระดับอำเภอแต่ไม่ทั่วถึงในระดับตำบลซึ่งเป็นผู้ให้บริการในพื้นที่เป็นส่วนใหญ่ และทำให้งบประมาณไม่เพียงพอสำหรับซื้อนมผงให้หญิงตั้งครรภ์ที่น้ำหนักขึ้นต่ำกว่าเกณฑ์ ด้านสื่อถ่ายทอดความรู้ได้แก่ คู่มือปฏิบัติงานภาพอาหารแลกเปลี่ยนทดแทนและกราฟวัลลภหรือกราฟเฝ้าระวังภาวะโภชนาการหญิงมีครรภ์ มีความเหมาะสมเข้าใจง่ายเป็นแนวทางปฏิบัติชัดเจนและใช้ได้ดีทั้งในระดับเจ้าหน้าที่สาธารณสุขและหญิงตั้งครรภ์ กระจายเพียงพอทั่วถึงในโรงพยาบาลและสถานีอนามัย ส่วนระยะเวลาดำเนินงานเหมาะสมเพียงพอสามารถปฏิบัติได้ตรงตามแผนงานที่กำหนดทุกกิจกรรมและดำเนินได้ต่อเนื่องมาเป็นระยะเวลา 3 ปี กระบวนการดำเนินงานมีขั้นตอนชัดเจนตั้งแต่การแต่งตั้งคณะกรรมการและคณะทำงานทั้งในระดับจังหวัด อำเภอ กำหนดบทบาทความรับผิดชอบเป็นลายลักษณ์อักษร ปรับเปลี่ยนตามความเหมาะสมในแต่ละจังหวัด มีกิจกรรมการเตรียมความพร้อมแก่เจ้าหน้าที่ พัฒนาขีดความสามารถเจ้าหน้าที่ทุกระดับ ให้การสนับสนุนคู่มือและสื่อโภชนศึกษาต่างๆ อย่างต่อเนื่อง การพัฒนาคลินิกฝากครรภ์ให้มีมาตรฐานโดยให้หญิงตั้งครรภ์ทุกคนได้รับการวินิจฉัยและประเมินภาวะเสี่ยงจากแพทย์ การเฝ้าระวังภาวะโภชนาการตลอดการตั้งครรภ์และติดตามเสริมนมผงครบ 90 วัน รณรงค์ฝากครรภ์ก่อน 12 สัปดาห์ครบ 4 ครั้งตามเกณฑ์และติดตามนิเทศงานจากอำเภอและจังหวัดสม่ำเสมอ แต่พบปัญหาทีมผู้นิเทศงานไม่พร้อมตามแผนที่กำหนดไว้และไม่สามารถออกนิเทศได้ตามแผน ส่วนใหญ่ผู้นิเทศในระดับจังหวัดมีภารกิจมากทั้งด้านบริหาร บริการและวิชาการโดยเฉพาะสูติแพทย์ซึ่งเป็นผู้เชี่ยวชาญที่ให้คำปรึกษาโดยตรงแก่ผู้ปฏิบัติงาน ผลผลติของโครงการประสบความสำเร็จด้านการพัฒนาบุคลากรมีทักษะและศักยภาพการบริการฝากครรภ์ได้ตามมาตรฐานที่กำหนดในโครงการ โครงการนี้กระตุ้นให้เจ้าหน้าที่ทุกระดับเห็นความสำคัญของการแก้ไขปัญหาทารกน้ำหนักแรกเกิดต่ำกว่าเกณฑ์โดยใช้กราฟโภชนการและภาพอาหารแลกเปลี่ยนทดแทนประเมินภาวะเสี่ยงต่อทุพโภชนาการในหญิงตั้งครรภ์ทุกคนทุกครั้งที่มาฝากครรภ์ และหญิงตั้งครรภ์มีพฤติกรรมด้านโภชนาการได้ตามแนวทางของอาหารแลกเปลี่ยนทดแทน ผู้บริหารทุกระดับเห็นความสำคัญและมีนโยบาย ผู้บริหารทุกระดับเห็นความสำคัญและมีนบายให้ดำเนินการต่อเนื่องในปี ต่อไปสำหรับอัตราการเกิดทารกน้ำหนักต่ำกว่า 2,500 กรัม ลดลงจากร้อยละ 11.73 ในปี พ.ศ.2539 เหลือ ร้อยละ 9.49 ในปี พ.ศ.2542 ทั้งนี้เพราะสาเหตุที่ทำให้ทารกแรกเกิดน้ำหนักต่ำกว่าเกณฑ์มีมากและซับซ้อน กิจกรรมในโครงการนี้ไม่สามารถควบคุมได้ทั้งหมดและเจ้าหน้าที่ไม่เพียงพอในการติดตามหญิงมีครรภ์และครอบครัวที่บ้านโดยเฉพาะรายที่มีความเสี่ยงในขณะตั้งครรภ์ เจ้าหน้าที่สาธารณสุขมากกว่าร้อยละ 85 มีความคิดเห็นว่าโครงการนี้ดี ช่วยแก้ไขปัญหาในพื้นที่ได้และควรดำเนินต่อเนื่อง สำหรับปัจจัยที่ผลต่อทารกแรกเกิดน้ำหนักต่ำกว่าเกณฑ์มีสาเหตุจากมารดาร้อยละ 17.38 และจากทารกร้อยละ 77.74 ทั้งนี้เป็นทารกคลอดก่อนกำหนดร้อยละ 59.54 ครรภ์แฝดร้อยละ 17.21 อย่างไรก็ตามการประเมินผลโดยใช้แบบจำลองซิป (CIPP model) เหมาะสมกับการประเมินผลโครงการเพื่อประกอบการตัดสินใจของผู้บริหารและ ผู้ปฏิบัติงานปรับปรุงโครงการให้เหมาะสมมากขึ้น

คำสำคัญ : การประเมินโครงการ,ทารกแรกเกิดน้ำหนักน้อย,สำนักงานสาธารณสุขเขต 10

Downloads

How to Cite

1.
มิตกิตติ ร, วัชรินทร์ยานน์ ก, แดงเปี่ยม ช. ประเมินผลโครงการลดจำนวนทารกแรกเกิดน้ำหนักต่ำกว่า 2,500 กรัม สำนักงานสาธารณสุขเขต 10. J Thai Nurse midwife Counc [Internet]. 2012 Aug. 25 [cited 2024 Mar. 29];16(2):37. Available from: https://he02.tci-thaijo.org/index.php/TJONC/article/view/2332