ภาวะสุขภาพและระดับกิจกรรมของผู้ป่วยกล้ามเนื้อหัวใจตาย ในระยะพักฟื้นภายหลังออกจากโรงพยาบาล
Abstract
ผู้ป่วยกล้ามเนื้อหัวใจตายเฉียบพลันอาจมีกิจกรรมที่ไม่เหมาะสมในระยะพักฟื้นภายหลังออกจากโรงพยาบาล เป็นผลให้อาการของโรคกำเริบขึ้นวัตถุประสงค์ของวิจัยครั้งนี้ คือศึกษาภาวะสุขภาพและระดับกิจกรรมของผู้ป่วยช่วงระยะพักฟื้นภายหลังออกจากโรงพยาบาล และความแตกตางของ เพศ อายุ และ การสนับสนุนทางสังคม กับระดับกิจกรรม กลุ่มตัวอย่างคือ ผู้ป่วยกล้ามเนื้อหัวใจตายเฉียบพลัน จำนวน 33 คน การเก็บข้อมูลใช้แบบสัมภาษณ์กึ่งโครงสร้างและการสังเกต การเก็บข้อมูลแบ่งเป็น 4 ระยะ ได้แก่ ก่อนผู้ป่วยออกจากโรงพยาบาล และภายหลังออกจากโรงพยาบาลในสัปดาห์ที่ 1,3 และ 6 แสดงผลและวิเคราะห์ข้อมูลโดยการวิเคราะห์เนื้อหา ร้อยละ และ Chi-Square
ผลการวิจัยพบว่า ภายหลังออกจากโรงพยาบาลผู้ป่วยกล้ามเนื้อหัวใจตายเฉียบพลันส่วนใหญ่มีอาการแสดงผิดปกติในระยะพักฟื้น พบมากที่สุดในสัปดาห์ที่ 3 ร้อยละ 84.4 ได้แก่ อาการเหนื่อยร้อยละ 68.7 และ อาการเจ็บหน้าอกร้อยละ 31.3 ในด้านการทำกิจกรรมในช่วง 6 สัปดาห์แรก พบว่า ผู้ป่วยมีระดับกิจกรรมที่เสี่ยงต่อการเกิดกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือดในสัปดาห์ที่ 1 และ 3 ร้อยละ 57.6 และ 63.6 ตามลำดับ และผู้ป่วยร้อยละ 48.5 มีระดับกิจกรรมที่เสี่ยงต่อการเสื่อมสภาพของร่างกายและหัวใจในสัปดาห์ที่ 6
นอกจากนี้ยังพบว่า ในสัปดาห์ที่ 1 ระดับกิจกรรมแตกต่างกันในผู้ป่วยที่มีอายุมากกว่า 60 ปี และน้อยกว่า 60 ปี และมีการสนับสนุนทางสังคมมากและน้อย อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ p < .01 และผู้ป่วยเพศหญิงและชายมี ระดับกิจกรรมที่แตกต่างกันในสัปดาห์ที่ 6 อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (p < .05)
ผลการวิจัยครั้งนี้ ผู้วิจัยมีข้อเสนอแนะให้ทีมสุขภาพมีการวางแผนจำหน่ายผู้ป่วยกล้ามเนื้อหัวใจตายเฉียบพลัน โดยเน้นระดับกิจกรรมที่ชัดเจนและอาจมีการดูแลต่อเนื่อง เช่น การเยี่ยมบ้าน เพื่อการดูแลผู้ป่วยภายหลังออกจากโรงพยาบาลอย่างมีประสิทธิภาพ
คำสำคัญ ภาวะสุขภาพ,กล้ามเนื้อหัวใจตาย,ระดับของกิจกรรม,ระยะพักฟื้น